messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมการประชุม Thailand Synergy Forum 2025 เผยแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย ผลักดันธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (IDE) ผ่านการปลดล็อกข้อจํากัดด้านกฎหมายและสนับสนุนการเข้าสู่ตลาด

กระทรวง อว. โดย สอวช. ร่วมการประชุม Thailand Synergy Forum 2025 เผยแนวทางขับเคลื่อนนโยบาย ผลักดันธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (IDE) ผ่านการปลดล็อกข้อจํากัดด้านกฎหมายและสนับสนุนการเข้าสู่ตลาด

วันที่เผยแพร่ 6 กุมภาพันธ์ 2025 32 Views

(5 กุมภาพันธ์ 2568) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เข้าร่วมการประชุมงาน Thailand Synergy Forum 2025 ณ ห้องศุกรีย์ แก้วเจริญ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นผู้กล่าวเปิดงาน

ดร.สุวิทย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทั้ง 11 หน่วยงานใน Thailand Synergy ได้ทำงานร่วมกันมามากกว่า 10 ปี จึงได้มีการหารือกันถึงสิ่งที่จะขับเคลื่อนต่อ และได้เห็นถึงความสำคัญของ Innovation หรือ นวัตกรรม ที่เกิดขึ้นมาจากผู้ประกอบการ หรือ Enterprise ทำให้มีแนวคิดที่จะผลักดันให้ SMEs ของไทยเติบโตขึ้นไปเป็น IDE (Innovation-Driven Enterprise) หรือ ธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้ โดยถือเป็นความท้าทายอย่างมาก ที่ต้องใช้พลังความร่วมมือจากทุกหน่วยงานเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายเดียวกัน

“ใน 11 หน่วยงานมีภารกิจการดำเนินงานที่ต่างกัน แต่เราสามารถตั้งวิสัยทัศน์และเป้าหมายร่วมกันได้ ในการทำเพื่อประเทศ เรายังมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่อีกมาก โจทย์สำคัญคือจะทำอย่างไรให้ SMEs พัฒนาไปเป็น IDE ได้ ทุกหน่วยงานจึงต้องทำงานร่วมกัน เพื่อเร่งสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลง โดยจะต้องมีการกำหนดวาระการดำเนินงานและผลลัพธ์ร่วมกัน” ดร.สุวิทย์ กล่าว

ด้าน ดร.สุรชัย ได้กล่าวสนับสนุนแนวทางในการผลักดัน SMEs สู่ IDE และได้เล่าถึงบทบาทและภารกิจของ สอวช. ในฐานะหน่วยงานต้นน้ำด้านนโยบาย ซึ่ง สอวช. ได้ตั้งเป้าหมายยกระดับไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ผ่านการเพิ่มจำนวนบริษัทนวัตกรรม ที่มีรายได้เฉลี่ย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย แต่ในขณะเดียวกัน IDE ยังต้องเผชิญกับอุปสรรคและความท้าทายที่สำคัญหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ที่เพียงพอต่อการขยายธุรกิจ การพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ การขยายตลาด ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงกฎระเบียบและขั้นตอนที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งธุรกิจ การขอใบอนุญาต และการเข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ

ที่ผ่านมา สอวช. เห็นถึงข้อจำกัดและความท้าทายเหล่านี้ จึงได้มุ่งเน้นไปที่การพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น โดยได้มีการขับเคลื่อนในเชิงนโยบายร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เช่น 1. การเสริมสร้างการลงทุนผ่านกลไก University Holding Company (UHC) โดย สอวช. ได้จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ พ.ศ. 2566 ซึ่งช่วยให้มหาวิทยาลัยสามารถทำการร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมและ Spin-off ผ่านกลไก UHC ได้ 2. ขยายการเข้าถึงตลาดผ่าน ECIP แพลตฟอร์ม E-Commercial and Innovation Platform ที่จะช่วยแก้ไขปัญหา ด้วยการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มดิจิทัล การฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาดและการขายหรือ Sale Talent และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าถึงตลาดโลก 3. กลไกเชื่อมโยงธุรกิจกับบริการให้คำปรึกษาเชิงลึกผ่าน Innovation Business Development Service (iBDS) ซึ่งจะช่วยให้ SME ได้รับการแก้ปัญหาด้านนวัตกรรม 4. การปลดล็อกกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกในการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ซึ่งที่ผ่านมา สอวช. ได้สนับสนุนการออกกฎหมายเพื่อช่วยขจัดอุปสรรค หรือช่วยให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ได้สะดวกยิ่งขึ้น เช่น ระเบียบสภานโยบายฯ ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมแก่ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม พ.ศ. 2563 เปิดโอกาสให้ภาครัฐสามารถให้ทุนแก่ภาคเอกชนและประชาสังคมได้โดยตรง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการวิจัยและนวัตกรรมในภาคเอกชนและภาคประชาสังคม รวมทั้งสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม และพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. 2564 (TRIUP Act) กำหนดให้ถ่ายโอนความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากทุนของรัฐไปยังผู้รับทุนที่มีศักยภาพในการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะช่วยเร่งการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

และ 5. Offset Policy คือการกำหนดเงื่อนไขให้ต้องมีความร่วมมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยีและดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจผ่านโครงการที่ใช้งบประมาณของภาครัฐหรือภาครัฐร่วมกับภาคเอกชนในการจัดซื้อจัดจ้างจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นงานที่ สอวช. ผลักดันร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และกรมบัญชีกลาง โดยนโยบายนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้กับ SMEs และ IDE ไทย ผ่านการรับความรู้จากต่างประเทศ รวมถึงเป็นการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มการจ้างงาน

ดร.สุรชัย ยังได้เน้นย้ำว่า การเปลี่ยน SMEs ของไทยให้กลายเป็น IDEs ที่สามารถแข่งขันได้ในระดับโลกต้องใช้ความพยายามร่วมกันจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย หน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา นักลงทุนภาคเอกชน และผู้นำ อุตสาหกรรมต้องทำงานร่วมกันเพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยเชื่อมั่นว่า หากทุกภาคส่วน ร่วมมือกัน จะสามารถสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมที่เข้มแข็ง และผลักดันให้ IDE ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในเวทีโลกได้อย่างแน่นอน

เรื่องล่าสุด