(6 กุมภาพันธ์ 2568) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญจากวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ให้เป็นวิทยากรบรรยายนำในการสัมมนาวิชาการของนักศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (นศ.วปอ.) รุ่นที่ 67 เรื่อง “เร่งสร้างพลังคนไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ณ หอประชุมวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ โดย ดร.สุรชัย ได้ร่วมการสัมมนาใน Session 1 “แนวทางการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์”


ดร.สุรชัย กล่าวถึงกำลังคนในอนาคตสำหรับประเทศไทย โดยได้ชี้ให้เห็นถึงความท้าทายของระบบการศึกษาไทยต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลก ไม่ว่าจะเป็นประเด็นสังคมสูงวัย และความหลากหลายของขั้นชีวิต (Multistage life) เทคโนโลยีสร้างความพลิกผัน และการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการระบาดของโรคอุบัติใหม่ การเปลี่ยนขั้วอำนาจเศรษฐกิจของโลก รวมถึงการขาดแคลนทรัพยากร และปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งข้อมูลกำลังการผลิตแรงงานอุดมศึกษาของประเทศในแต่ละสาขานั้น ประเทศไทยผลิตบัณฑิตได้ประมาณปีละ 300,000 คน เป็นกลุ่ม STEM 100,000 คน และ Non-STEM 200,000 คน โดยสาขา STEM ที่มีผู้จบการศึกษามากที่สุด คือ วิศวกรรมศาสตร์ (ประมาณปีละ 40,000 คน) และสาขา Non-STEM ที่มีผู้จบการศึกษามากที่สุด คือ บริหารธุรกิจ (ประมาณปีละ 90,000 คน) ในขณะที่ความต้องการของตลาดแรงงาน จากข้อมูลการสำรวจความต้องการกำลังคนสมรรถนะสูงของประเทศไทย (Talent Landscape) ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2568-2572) พบว่า ใน 3 อันดับแรก อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์มีความต้องการกำลังคนมากที่สุด จำนวน 440,573 คน ตามด้วยอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะและหุ่นยนต์ จำนวน 226,423 คน และอุตสาหกรรมดิจิทัล จำนวน 87,568 คน


ดร.สุรชัย ยังได้ยกตัวอย่างนโยบาย แนวทาง มาตรการ สนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีในปัจจุบัน ได้แก่
1. โปรแกรมเติมเต็มสมรรถนะบัณฑิตอย่างเร่งด่วนเพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลง: สหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ (Coop+) ด้าน Semiconductor and Advanced Electronics 2. การจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) ที่ทำให้เกิดต้นแบบนวัตกรรมการอุดมศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูงในสาขาที่เป็นความต้องการเร่งด่วนของประเทศ โดยมีตัวอย่างหลักสูตรนวัตกรรมการอุดมศึกษาเพื่อผลิตกำลังคนสมรรถนะสูง อาทิ หลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีดิจิทัล (CEDT) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 3. โปรแกรมการพัฒนาทักษะบุคลากรผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นแบบเข้มข้นเพื่อการจ้างงาน เช่น โครงการพัฒนาทักษะเพื่อการจ้างงานตามความต้องการของประเทศ โดย GenNX MODEL 4. กลไกส่งเสริมการพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ ผ่านแพลตฟอร์ม STEMPlus ซึ่งที่ผ่านมาทำให้เกิดการจ้างงานใหม่กว่า 10,684 อัตรา และมีผู้ผ่านการฝึกอบรม 445,967 คน จาก 1,205 หลักสูตร 129 หน่วยฝึกอบรม


สำหรับตัวอย่างการพัฒนานโยบายในอนาคต มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาอาชีพและมาตรฐานทักษะที่จำเป็น
เพื่อเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาการเรียนการสอนของสถาบันการศึกษาที่นำไปสู่การจ้างงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ผ่าน Skill Mapping Platform เชื่อมโยงระหว่างอุดมศึกษาและสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ในการแนะแนวอาชีพและทักษะแห่งอนาคต เพื่อร่วมพัฒนาหลักสูตรให้มีความสอดคล้องและต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดงาน