สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้เข้าร่วมการประชุม BIMSTEC Digital Conclave 2025 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2568 ณ กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา ภายใต้หัวข้อ Building Digital Public Infrastructure for Shared Prosperity จัดขึ้นโดย The Asia Group และสำนักเลขาธิการ BIMSTEC โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลศรีลังกา และ Gates Foundation


BIMSTEC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) เป็นกรอบความร่วมมือทางวิชาการและเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคที่ประกอบด้วย 7 ประเทศ ได้แก่ บังกลาเทศ ภูฏาน อินเดีย เมียนมา เนปาล ศรีลังกา และไทย โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างความร่วมมือในหลากหลายสาขา เช่น การค้า สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความมั่นคง เกษตร วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พลังงาน ขนส่ง ตลอดจนการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาคอ่าวเบงกอล
BIMSTEC Digital Conclave 2025 เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และสร้างความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะดิจิทัล (Digital Public Infrastructure: DPI) โดยได้รวบรวมผู้นำและผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสมาชิก BIMSTEC ทั้ง 7 ประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับการส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาคในการพัฒนา DPI เพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและการพัฒนาในภูมิภาค โดยการประชุมได้มุ่งเน้นประเด็นสำคัญ เช่น Digital Identity, Digital Payment, Digitization of Health Service และ Governance ผู้แทนประเทศไทยที่ได้เข้าร่วมงานนี้คือ ดร.ปราณปรียา ศรีวรรณวิทย์ ลุนด์แบร์ย ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายความร่วมมือระหว่างประเทศ สอวช. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และนายธัชณวัฒน์ พิริยธนพัทธ์ หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ดร.ปราณปรียา ได้รับเกียรติให้เป็นผู้ร่วมอภิปรายในหัวข้อ Digital Transformation of Governance โดยมี Ambassador Dr. A Saj U Mendis, Director of Science, Technology and Innovation Division, BIMSTEC, Sri Lanka เป็นผู้ดำเนินรายการ การอภิปรายในหัวข้อนี้ มุ่งเน้นถึงบทบาทของเทคโนโลยีดิจิทัลในการพัฒนาระบบการบริหารภาครัฐ ความโปร่งใส และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีผู้แทนจากประเทศสมาชิก BIMSTEC ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแนวทางในการใช้ DPI เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการของภาครัฐ และสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลของการบริหารภาครัฐ

ดร.ปราณปรียา ได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของประเทศไทยในการพัฒนารัฐบาลดิจิทัล โดยอ้างอิงถึงดัชนีรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Government Development Index (EGDI) และดัชนีการมีส่วนร่วมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ E-Participation Index (EPI) ซึ่งองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) มีการสำรวจและจัดทำทุก 2 ปีว่า ในปี 2024 ประเทศไทยมี EGDI อยู่ที่อันดับ 52 และ EPI ลำดับที่ 42 จาก 193 ประเทศ ซึ่งสูงที่สุดในกลุ่มประเทศ BIMSTEC โดยประเทศไทยมีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดจากปี 2014 ที่ไทยอยู่ในอันดับ 102 และ 54 ตามลำดับ ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้มีการดำเนินการที่สำคัญเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล เช่น การจัดทำแผนพัฒนารัฐบาลดิจิทัลของประเทศไทย พ.ศ. 2566 – 2570 และการจัดตั้งศูนย์แลกเปลี่ยนข้อมูลกลางภาครัฐ (Government Data Exchange: GDX)
สำหรับกระทรวง อว. นั้น ได้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มข้อมูลการอุดมศึกษา ที่ให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับนักศึกษา บุคลากร สถาบันอุดมศึกษา สถิติจำนวนผู้สำเร็จการศึกษา หลักสูตร และภาวะการมีงานทำ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถออกแบบนโยบายให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน รวมถึงยังได้ทำการพัฒนาระบบเพื่อสนับสนุนการบริหารงานด้านวิจัยและนวัตกรรม ได้แก่
- NRIIS (National Research and Innovation Information System) คือระบบข้อมูลสารสนเทศวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อสร้างฐานข้อมูลงานวิจัยของประเทศให้มีเอกภาพ มีความปลอดภัยและสิทธิ์การเข้าถึงระบบอย่างถูกต้อง ลดความซ้ำซ้อนของระบบบริหารจัดการและการสนับสนุนงานวิจัยของประเทศ
- TNRR (Thai National Research Repository) เป็นคลังข้อมูลงานวิจัยไทย รวบรวมองค์ความรู้ด้านการวิจัยและนวัตกรรม เช่น ผลงานวิจัย ข้อมูลนักวิจัย วิทยานิพนธ์ เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น
- STIS (National Science and Technology Information System) เป็นระบบฐานข้อมูลสารสนเทศวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อรวบรวมข้อมูลศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ไว้ในฐานข้อมูลเดียวกัน เพื่อให้ภาคเอกชนสามารถสืบค้นข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของภาครัฐ และสนับสนุนให้ภาคเอกชนใช้โครงสร้างพื้นฐานที่รัฐได้ลงทุนไปแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ดร.ปราณปรียา ยังได้กล่าวถึงอีกหนึ่งโครงการสำคัญที่ สอวช. ร่วมดำเนินการกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) ในการสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมนโยบายเพื่ออนาคตไทย (Policy Innovation Platform for the Better Future: PIP) ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้กำหนดนโยบาย ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนทั่วไปสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการกำหนดนโยบาย ผ่านการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและการออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดย PIP เป็นกลไกที่ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายได้อย่างมีประสิทธิภาพ


การเข้าร่วมเวที BIMSTEC Digital Conclave 2025 สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของประเทศไทยในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล และเป็นโอกาสสำคัญในการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่ดีในระดับภูมิภาค เพื่อพัฒนาระบบนิเวศดิจิทัลที่ครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับประเทศสมาชิก BIMSTEC