กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยไทย และสมาคมแผงวงจรไต้หวัน (Taiwan Printed Circuit Association: TPCA) เดินหน้าความร่วมมือในการพัฒนากำลังคนด้านอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ (PCB) รองรับการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยให้ก้าวสู่ศูนย์กลางการผลิต PCB แห่งภูมิภาค เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2568
ศ.ดร.สุรินทร์ คำฝอย รองผู้อำนวยการกลุ่มยุทธศาสตร์กำลังคนในระบบการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอวช. พร้อมด้วยนางสาวภาณิศา หาญพัฒนนันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมอุดมศึกษาและการพัฒนาทักษะแห่งอนาคต และคณะทำงาน สอวช. ได้ประชุมหารือกับ Mr. David Lai, Secretary General ของ TPCA ร่วมกับ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฏ นายกสมาคมสหกิจศึกษาไทย คุณศุภนารี โพธิ์อ่อง นักวิชาการส่งเสริมการลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เข้าร่วมประชุมหารือ




การหารือครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการผลิตและพัฒนากำลังคนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่มวิศวกรและบุคลากรด้านเทคนิคที่มีทักษะเฉพาะทางด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง (Advanced Electronics) ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรม PCB จะมีความต้องการวิศวกรมากถึง 2,000 อัตรา ภายในปี 2570
ทั้งนี้ TPCA ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม Thailand PCB Talent Matching ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 5 มีนาคม 2568 ณ โรงแรมอวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ ซึ่งภายในงานจะมีการจับคู่ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยและบริษัทอุตสาหกรรมแผงวงจร รวมถึงการนำเสนอแนวทางพัฒนาหลักสูตรและฝึกอบรมบุคลากรให้ตรงตามทักษะที่อุตสาหกรรมต้องการ พร้อมเปิดโอกาสให้นักศึกษาและบัณฑิตใหม่ได้พบปะกับบริษัทชั้นนำที่เข้าร่วมงานกว่า 10 แห่ง
ความร่วมมือระหว่าง สอวช. TPCA และมหาวิทยาลัยไทยเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2567 โดยมุ่งเน้นการสร้างบุคลากรที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานและการลงทุนจากไต้หวัน ในเดือนพฤศจิกายน 2567 TPCA ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้าน PCB โดยมีวิทยากรจากไต้หวันและผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทชั้นนำ ถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับเทรนด์อุตสาหกรรมและตำแหน่งงานที่ต้องการในประเทศไทย มีนักศึกษากว่า 300 คนเข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งช่วยเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้เรียนรู้จากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง กิจกรรมดังกล่าวได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม PCB ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของไทยให้สอดคล้องกับตลาดแรงงาน และเพิ่มโอกาสการจ้างงานของบัณฑิตไทย
ในปี 2568 TPCA มีแผนขยายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือเพิ่มเติม โดยเน้นการส่งเสริมการฝึกอบรมและฝึกงานเชิงลึก รวมถึงการสร้างโอกาสให้กับนักศึกษาไทยได้เข้าสู่อุตสาหกรรม PCB ที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
การร่วมมือครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการสร้างระบบนิเวศที่แข็งแกร่งสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูงของไทย ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลก และเป็นจุดหมายการลงทุนที่สำคัญของบริษัทต่างชาติ ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม ความร่วมมือไทย-ไต้หวันในครั้งนี้จะช่วยผลักดันประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของภูมิภาค ผ่านการพัฒนากำลังคนคุณภาพสูง ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างโอกาสการจ้างงาน และเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศให้เทียบเท่าระดับสากล