(19 กุมภาพันธ์ 2568) ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมงานเสวนา Policy Innovation Exchange ครั้งที่ 5 (PIX5) ภายใต้หัวข้อ “เส้นทางนวัตกรรมนโยบายสู่ทิศทางอนาคต” (Policy Innovation Journey for Shaping Today and Tomorrow จัดโดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย (UNDP) และได้ร่วมเวทีแลกเปลี่ยนสาธารณะในรูปแบบสภากาแฟ หัวข้อ “ร่วมสร้างอนาคต: พลิกโฉมกระบวนการนโยบายสาธารณะของประเทศไทย” ณ ห้องบอลรูมบุษราคัม โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว กรุงเทพ เอเทรียม กรุงเทพฯ

ดร.สุรชัย กล่าวถึงแนวทางการทำนโยบายในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากหลายสาเหตุ เช่น การเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ ความซับซ้อนของโจทย์ในระดับโลก รวมถึงความต้องการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความคาดหวังกับการทำนโยบายที่หลากหลายมากขึ้น ในส่วนของ สอวช. มีบทบาททำนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ต้องดูว่าในอนาคตจะต้องทำนโยบายอะไร และจะเลือกประเด็นใดมาทำ จึงเป็นเหตุผลให้เกิด Virtual Policy Platform หรือแพลตฟอร์มนโยบายเสมือนจริงขึ้นมา หวังให้เกิดการเปลี่ยนผ่านรูปแบบการทำนโยบายและสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความสำคัญในระบบมากขึ้น

ที่ผ่านมาการทำนโยบายของ สอวช. เราเชื่อในระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation System) โดยมีหลักการคือการทำงานร่วมกันของ 3 ภาคส่วน คือภาควิชาการ ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐ ซึ่งแนวความคิดนี้ถูกถอดมาใช้กับ Virtual Policy Platform ด้วยเช่นกัน ประกอบด้วยการมีผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้ต่าง ๆ จากมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยภาครัฐ มีความต้องการของสังคมที่เป็นโจทย์ในการทำนโยบาย และภาครัฐ ที่คอยอำนวยความสะดวกและทำให้เกิดเป็นนโยบายขึ้นมา โดยกุญแจสำคัญของการพัฒนาแพลตฟอร์มนโยบายแบบมีส่วนร่วม (Participatory Policy Platform) จะต้องมีข้อมูลพื้นฐานและมีการระบุประเด็นปัญหาที่ชัดเจน เป็นการเพิ่มความตระหนักถึงความสำคัญของความท้าทายด้านนโยบาย ต้องมีระบบสนับสนุนในการพัฒนานโยบาย และจะต้องมีกระบวนการติดตามประเมินผล ให้ข้อเสนอแนะ เพื่อดูว่านโยบายที่ได้รับการขับเคลื่อนไปต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไรในการทำนโยบายรอบต่อไป

กระบวนการทำนโยบาย เริ่มต้นจากการระบุประเด็นปัญหาว่าจะทำเรื่องอะไร ซึ่งสามารถนำเครื่องมือต่าง ๆ มาช่วยได้ เช่น เครื่องมือคาดการณ์อนาคต (foresight) จากนั้นจะมีการกำหนดนโยบาย โดยทำการวิจัยนโยบายก่อน และที่สำคัญมากคือการทำให้นโยบายนั้นให้เกิดได้จริง ต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ช่วงเริ่มทำนโยบาย และเมื่อมีนโยบายแล้วต้องถูกนำไปใช้ รวมถึงมีการติดตามประเมินผลนโยบาย ให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้เกิดการทำนโยบายอย่างครบวงจร

ดร.สุรชัย ยังได้เน้นย้ำถึงงานที่ สอวช. ทำ ที่มีการใช้การคาดการณ์อนาคตมาช่วยในการทำนโยบาย โดยศูนย์คาดการณ์เทคโนโลยีเอเปค (APEC Center for Technology Foresight: APEC CTF) ตั้งขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998 เริ่มทำเรื่อง foresight ตั้งแต่คนทั่วไปยังไม่ค่อยรู้จักเรื่องนี้ ซึ่ง APEC CTF ทำงานในประเด็นนี้มาอย่างยาวนาน และมีการจัดโครงการต่าง ๆ ขึ้นมากมาย รวมถึงให้คำปรึกษาที่เกี่ยวข้องด้วย โดยมีตัวอย่างนโยบายที่ สอวช. ได้ทำให้เอเปคในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 คือการทำแผนที่นำทางการเปลี่ยนผ่านเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Transition Roadmap) โดยได้ใช้ scenario เข้ามาช่วยทำนโยบายและมีการระดมสมองผ่านการประชุมแบบออนไลน์ ร่วมกับผู้เข้าร่วมจากทุกภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่เป็นกระแสสำคัญของโลก สอวช. ก็ได้ทำเรื่องนี้ด้วยการทำแบบสำรวจ เพื่อหาคำตอบของสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต


ดร.สุรชัย ยังได้กล่าวถึงในการทำแพลตฟอร์มนโยบายแบบมีส่วนร่วม ที่มีจุดเด่นอยู่ 4 อย่าง ได้แก่ 1. การมองเห็นถึงปัญหาที่มีความซับซ้อนมาก 2. การสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 3. การเตรียมให้มีวิธีการ/โครงสร้างที่ดี และ 4. การตัดสินใจที่มีการขับเคลื่อนด้วยข้อมูล รวมถึงมีกระบวนการรับข้อเสนอแนะเพื่อการพัฒนานโนบายอย่างต่อเนื่อง โดยเป้าหมายของ สอวช. คือการเป็นหน่วยงานที่พัฒนานวัตกรรมด้านนโยบายที่มีความคล่องตัว ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล การมองไปข้างหน้า และการมีเครือข่ายที่เข้มแข็งในการสร้างความเชี่ยวชาญการทำนโยบายระดับประเทศ และอยากเผยแพร่แนวความคิดเรื่องการคาดการณ์อนาคตเพื่อเข้าไปช่วยในการทำแผนหรือการทำนโยบายในยุคใหม่ด้วย

