
กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) นำโดย ดร.กรัณฑรัตน์ นาขวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. ร่วมกับ Tech For Good Institute (TFGI) ประเทศสิงคโปร์ จัดเวทีเสวนาเชิงนโยบาย “The Evolution of Tech Governance in Southeast Asia” เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานด้านนโยบาย ภาคอุตสาหกรรม และภาควิชาการ ให้ความสนใจเข้าร่วมรับฟัง ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจทิศทางและพัฒนาการเกี่ยวกับการกำกับดูแลเทคโนโลยี (Tech Governance) ในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของประเทศไทยในช่วงปี 2567 ที่ผ่านมา และยังเป็นการเปิดตัวรายงานฉบับที่ 2 ของ TFGI “The Evolution of Tech Governance in Southeast Asia-6” ซึ่งเป็นรายงานเจาะลึกพัฒนาการสำคัญด้านนโยบายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องการกำกับดูแลเทคโนโลยีใน 6 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม

“รัฐบาลทั่วโลกต่างกำลังเร่งปรับตัวให้ทันกับนวัตกรรมควบคู่ไปการสร้างระบบที่ปลอดภัย เชื่อถือได้ มีความครอบคลุมและยั่งยืน ซึ่งแนวคิดเดิมที่ว่า “move fast and break things” กำลังเปลี่ยนไปสู่ “move faster, but fix things” หรือการปรับตัวอย่างรวดเร็วควบคู่กับการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ” Dr. Ming Tan กรรมการผู้จัดการของ TFGI กล่าว “แต่ละประเทศเผชิญกับความท้าทายในรูปแบบของตนเอง ซึ่งทาง TFGI รู้สึกยินดีที่ได้ร่วมมือกับ สอวช. ในการทำงานเพื่อให้เห็นภาพรวมแนวโน้มด้านการกำกับดูแลเทคโนโลยีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับประเทศ”

งานเสวนาในวันนี้ได้กล่าวเน้นย้ำถึงสองประเด็นหลัก คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และการปกป้องสังคมดิจิทัลในยุคปัจจุบัน ซึ่งสำหรับประเทศไทยนั้น การส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม ซึ่งหนึ่งในโครงการสำคัญที่จะเกิดขึ้นในปี 2568 นี้คือการเป็นเจ้าภาพจัดงาน Asia-Pacific UNESCO Global Forum on the Ethics of AI ในเดือนมิถุนายน 2568 นี้ นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความก้าวหน้าสำคัญหลายประการในปีที่ผ่านมา เช่น การจัดตั้งแผนกคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีในศาลอาญา และการเปิดตัวโครงการ “อว. For AI” ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างผู้เชี่ยวชาญด้าน AI กว่า 30,000 คนภายใน 3 ปี และการพัฒนาหลักสูตรให้ 90% ของนักศึกษามีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับ AI

“ในฐานะหน่วยงานนโยบายระดับประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอวช. ตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพในการส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางของนวัตกรรมและเศรษฐกิจนวัตกรรมผ่านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง AI, Blockchain, Cloud Computing ทางเราจึงมุ่งมั่นที่จะออกแบบนโยบายที่รักษาสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมและการกำกับดูแลอย่างรอบคอบ” ดร.กรัณฑรัตน์ กล่าว

จากนั้น การเสวนาหัวข้อ “Forward-Looking Policies of Tech Governance in Thailand” ได้รับเกียรติจากผู้เข้าร่วมเสวนาที่มีความเชี่ยวชาญจากภาครัฐและภาคเอกชน ได้แก่ นางสาวกษมา กองสมัคร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ดร.สลิลธร ทองมีนสุข นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ดร.ศักดิ์ เสกขุนทด ที่ปรึกษาอาวุโส สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) และนายจิระวัฒน์ ภูมิศรีแก้ว ตัวแทนจากสมาคม Thai Digital Platform Association ร่วมแบ่งปันวิสัยทัศน์เกี่ยวกับนโยบายด้านกำกับดูแลเทคโนโลยีในปี 2568 โดยผู้ร่วมเสวนาเห็นพ้องว่า การกำกับดูแลเทคโนโลยีในไทยจะต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องโดยคำนึงถึงบริบทเฉพาะของประเทศ โดยการกำกับดูแล AI แพลตฟอร์มดิจิทัล และความมั่นคงทางไซเบอร์ จะยังคงเป็นหัวข้อสำคัญในการหารือในระยะต่อไป นอกจากนี้ การกำหนดนโยบายควรคำนึงถึงการส่งเสริมระบบนิเวศดิจิทัลของประเทศ รวมถึงการส่งเสริมสตาร์ทอัพและ SMEs ควบคู่ไปกับการพิจารณาระดับความรู้และการใช้งานเทคโนโลยีในสังคมดิจิทัลไทย นอกจากนี้ ข้อตกลงกรอบเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน (DEFA) ซึ่งคาดว่าจะสรุปผลในปีนี้ จะเป็นรากฐานสำหรับการทำงานร่วมกันในระดับภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันแม้ว่าโครงสร้างการกำกับดูแลและแนวทางการออกกฎระเบียบในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน แต่การความร่วมมือระหว่างประเทศ การสร้างความชัดเจนในกฎระเบียบ และการออกแบบนโยบายที่ตอบรับกัน จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความสอดคล้องในการกำกับดูแลเทคโนโลยีในระดับภูมิภาคควบคู่ไปพร้อมกับการคำนึงถึงข้อแตกต่างของแต่ละประเทศ