messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » กระทรวง อว. โดย สอวช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความเห็น พัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมในการขยายตลาด ตั้งเป้าพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มระดับประเทศ ช่วยนำสินค้าออกสู่ตลาดได้จริง

กระทรวง อว. โดย สอวช. จัดประชุมเชิงปฏิบัติการระดมความเห็น พัฒนาแพลตฟอร์มสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมในการขยายตลาด ตั้งเป้าพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มระดับประเทศ ช่วยนำสินค้าออกสู่ตลาดได้จริง

วันที่เผยแพร่ 31 มีนาคม 2025 53 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการ Design Thinking Workshop for Market Data Platform ภายใต้โครงการพัฒนา E-Commerce and Innovation Platform (ECIP) เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ณ ห้องหว้ากอ 2 สอวช. โดยมี ดร.กรัณฑรัตน์ นาขวา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวเปิดงานและวัตถุประสงค์การจัดประชุม

ดร.กรัณฑรัตน์ กล่าวว่า สอวช. ในฐานะหน่วยงานด้านนโยบาย ได้ตั้งเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่การเป็นเศรษฐกิจฐานนวัตกรรม โดยมีกลไกสำคัญคือการสร้างผู้ประกอบการนวัตกรรม ซึ่งหนึ่งในกลยุทธ์ที่มุ่งเน้น คือการสนับสนุนผู้ประกอบการนวัตกรรมที่มีศักยภาพและมีผลิตภัณฑ์ที่มีความพร้อมให้สามารถขยายตลาดสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศได้ จึงได้พัฒนากลไก ECIP ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีฐานข้อมูลที่ครอบคลุมและมีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ ให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการขยายธุรกิจ และนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดย ECIP จะเป็นแพลตฟอร์มกลางที่สามารถนำไปใช้กับหน่วยงานสนับสนุนผู้ประกอบการต่าง ๆ อาทิ อุทยานวิทยาศาสตร์ และหน่วยบ่มเพาะ ในการสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีความสามารถในการต่อยอดและนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดและเกิดการยกระดับการพัฒนาธุรกิจได้มากขึ้น

“การจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ครั้งนี้ มีทีมงานจากสถาบันข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BDI ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาและจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ มาเป็นวิทยากรบรรยายและดำเนินกิจกรรม โดยจะรวบรวมความคิดเห็นจากกลุ่มเป้าหมายผู้ใช้งานแพลตฟอร์มข้อมูลตลาดผ่านการระดมความคิดและการอภิปรายกลุ่ม ซึ่งความคิดเห็นที่ได้รับจะถูกนำไปใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้สอดคล้องกับความต้องการในการสนับสนุนผู้ประกอบการและการวิจัยตลาดสำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการขยายตลาด ช่วยเสริมสร้างให้แพลตฟอร์มมีประสิทธิภาพในการสนับสนุนการบ่มเพาะผู้ประกอบการและผู้ประกอบการในระยะยาว โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การประชุมในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างแนวทางใหม่ ๆ ในการส่งเสริมผู้ประกอบการต่อไปได้อย่างยั่งยืน” ดร.กรัณฑรัตน์ กล่าว

ด้าน นางสาวมนันยา ชุณหวุฒิยานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายระบบนิเวศส่งเสริมศักยภาพนวัตกรรมของผู้ประกอบการ สอวช. ได้กล่าวแนะนำ ว่า ECIP เป็นหนึ่งในข้อริเริ่มเชิงนโยบายของ สอวช. ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญที่ออกแบบขึ้นเพื่อช่วยผู้ประกอบการนวัตกรรมในการขยายตลาด โดยแนวคิดของ ECIP คือเป็นแพลตฟอร์มกลางที่จะพัฒนาให้เป็นแพลตฟอร์มระดับประเทศ (National platform) ช่วยผู้ประกอบการในการที่จะนำสินค้าที่พัฒนาขึ้นมาออกสู่ตลาดได้จริง ไม่ว่าจะผ่านช่องทางออนไลน์หรือออฟไลน์ ตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยใช้ความเชี่ยวชาญเดิมของอุทยานวิทยาศาสตร์ หน่วยบ่มเพาะและหน่วยสนับสนุนต่าง ๆ เชื่อมโยงด้วยกลไก ECIP เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ

ECIP ประกอบด้วยระบบการทำงานที่มีกลไกย่อย ๆ ได้แก่ 1. Sales Talent การพัฒนานักศึกษาเป็น sales talent ช่วยผู้ประกอบการนวัตกรรมในการขยายตลาด 2. Foreign Market Networks and Academy สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านการส่งออกเพื่อเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการ และการแลกเปลี่ยน lesson learned ระหว่างผู้ประกอบการ เพื่อเพิ่มโอกาสในการการส่งออก 3. Business Matching with Verified Partners ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมโยงกับพันธมิตรทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือในต่างประเทศเพื่อให้สามารถทดลองตลาด ตลอดจนขยายไปสู่ตลาดต่างประเทศได้ 4. Market Research and Consumer Insight การทำวิจัยตลาดเพื่อสนับสนุนการขยายตลาดของผู้ประกอบการสินค้านวัตกรรม เข้าใจตลาดเป้าหมายและสามารถพัฒนาสินค้าให้ตรงกับความต้องการของตลาดได้ และ 5. Standard and IP Consultant Service แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ ในด้านกฎระเบียบ มาตรฐานเพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ โดยกลไกเหล่านี้จะทำให้เกิดเป็นข้อมูลต่าง ๆ ออกมา อาทิ ข้อมูล Sale Talent รายชื่อผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดจีนที่น่าเชื่อถือ ข้อมูลพันธมิตรทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือในต่างประเทศ เช่น Traders, Fulfillment agent ข้อมูลความต้องการสินค้านวัตกรรมในตลาดต่างประเทศ ข้อมูลด้านกฎระเบียบ กระบวนการส่งออก มาตรฐานสินค้า กระบวนการขอใบอนุญาต และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จึงจำเป็นต้องมีฐานในการเก็บข้อมูลรวบรวมไว้เป็น Data Integration Platform

“การรวบรวมความเห็นจากการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการฯ ในครั้งนี้ จะเน้นไปที่ข้อมูลด้านการตลาด (Consumer insight) โดยจะต้องรวบรวมความต้องการ (Demand) ของผู้ใช้งานจริง เพื่อให้เห็นภาพว่าแพลตฟอร์มที่จะพัฒนาขึ้นมาควรมีรูปแบบเป็นอย่างไร ผู้ใช้ต้องการฐานข้อมูลอะไร แหล่งข้อมูลที่ต้องการคืออะไร จากนั้น BDI จึงจะนำข้อมูลที่ได้ไปออกแบบแพลตฟอร์มเพื่อตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างแท้จริง” นางสาวมนันยา กล่าว

จากนั้น วิทยากรจาก BDI ได้บรรยายถึงกรณีศึกษาความสำเร็จในการใช้ประโยชน์ข้อมูลตลาดในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการขยายตลาด แนะนำประเภท Data Product ในการวิเคราะห์ตลาด และจัดกิจกรรมระดมความคิดเกี่ยวกับความต้องการ Data Product โดยผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้ร่วมอภิปรายและแลกเปลี่ยนความเห็น เพื่อเป็นประโยชน์ในการพัฒนาแพลตฟอร์มต่อไป

เรื่องล่าสุด