messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » คลังสมอง สอวช. – ดร. ปู กาญจนา วานิชกร

คลังสมอง สอวช. – ดร. ปู กาญจนา วานิชกร

วันที่เผยแพร่ 16 มีนาคม 2020 989 Views

แน่นอนว่า หลายคนรู้จัก สอวช. ในนามหน่วยงานนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) แต่เบื้องหลังการทำงานนโยบายที่เป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของ สอวช. คือ หญิงแกร่ง สวยหวาน ที่เราจะพาทุกคนมารู้จักกับ ดร.ปู (กาญจนา วานิชกร) รองผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ผู้หญิงที่มุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในชีวิต สู่การทำงานด้านนโยบาย เพื่อสร้างอนาคตประเทศ

เริ่มต้นการสัมภาษณ์ เราได้มีโอกาสพูดคุยถึงชีวิตวัยเด็กของ ดร.ปู ที่ต้องบอกว่าลงตัวสุดๆ เพราะเป็นเด็กเรียนดี มารยาทงาม แถมเอ็นทรานส์ติดคณะทันตแพทย์ แต่เมื่อมีโอกาสสอบทุนก็ไม่รอช้า เพราะเป็นทุนบริหารเทคโนโลยี และนโยบายสาธารณะ ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่เน้นด้านเศรษฐศาสตร์ ซึ่งส่วนตัวมีความสนใจเพราะตั้งแต่วัยเด็กรู้สึกว่านักเศรษฐศาสตร์ได้บริหารบ้านเมือง เมื่อมีโอกาสเลยมาสัมภาษณ์เพื่อขอรับทุน ดร.ปู บอกว่า การสัมภาษณ์ทุนครั้งนั้นทำให้เปิดหูเปิดตาเด็กยุคนั้น เพราะเป็นทุนที่จะสร้างกำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อกลับมาช่วยกันพัฒนากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเป็นนักเรียนทุนกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ในระดับปริญญาตรี-โท-เอก รุ่นแรกเลยรู้สึกว่าเป็นรุ่นบุกเบิก และตอนที่มาสัมภาษณ์ไม่ได้บอกคุณแม่เลย เพราะคุณแม่อยากให้เรียนทันตแพทย์ แต่คุณพ่อสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งระหว่างรอทุนนั้นก็เรียนปี 1 จนจบ เตรียมสอบภาษาต่างๆ จนเรียบร้อย แต่ยังปิดคุณแม่เป็นความลับ จนกระทั่งอีก 3 เดือนจะเดินทาง จึงค่อยตัดสินใจขอทางบ้าน ซึ่งเป็นการตัดสินใจครั้งใหญ่ เพราะเป็นการเปลี่ยนเส้นทางชีวิตที่ที่บ้านบอกเลยว่า เราตัดสินใจเลือกเส้นทางชีวิตเอง “เราต้องรับผิดชอบ เราไม่มีสิทธิ์บ่นเลยนะเวลาที่เราเรียน เพราะเป็นสิ่งที่เราเลือกตัดสินใจเองและคิดว่าถูกต้อง” ดร.ปู กล่าว

ในช่วงเรียนปริญญาตรี ดร.ปู บอกว่า ได้รับคำแนะนำจากผู้ใหญ่ว่าให้ไปเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ หรือด้านวิทยาศาสตร์ เพราะต้องกลับมาทำงานกับสายวิทยาศาสตร์ เดี๋ยวจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่อง แล้วปริญญาโท ปริญญาเอก ค่อยไปเรียนด้านนโยบาย ตนจึงเลือกเรียนวิศวกรรมเครื่องกล เพราะเป็นสาขารากฐานที่สามารถต่อยอดไปเรียนวิศวะด้านอื่นๆ ได้ และยังเป็น 1 ในผู้หญิงแค่ 3 คนที่เรียนในรุ่นอีกด้วย พอช่วงเรียนปริญญาโท ก็ขยับมาเรียนวิศวกรรมไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์ และด้านเศรษฐศาสตร์มากขึ้น และปริญญาเอกก็เรียนด้านนโยบายสาธารณะ ซึ่งกลับมาย้อนคิดดูแล้ว เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในชีวิตมาก ทำให้ได้แนวคิดในการเรียนที่ทำให้รักการทำนโยบาย คือ ไม่ว่างานจะเป็นงานด้านวิศวะ หรือวิทยาศาสตร์ ทุกอย่างถ้าจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้ มันล้วนเกี่ยวข้องกับนโยบายสาธารณะ และไม่มีงานด้านวิชาการ ด้านเทคนิคชิ้นไหนเลยที่ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสังคม กฎหมาย มาตรฐาน หรือไม่ส่งผลกระทบกับประชาชน เพราะฉะนั้นเสน่ห์ของการทำนโยบาย คือมองแค่ด้านเทคนิคอย่างเดียวไม่พอ ถ้าคุณอยากจะเห็นมันใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด คุณจะต้องเข้าใจกระบวนการ ตั้งแต่การสร้าง การนำไปใช้ประโยชน์และเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบ รวมถึงผลกระทบทางสังคม พฤติกรรมของคนในสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกนโยบายอะไรออกมา เราต้องคิดถึงคนที่เสียประโยชน์ด้วย ไม่ใช่มองแค่คนที่ได้รับประโยชน์อย่างเดียว แต่โจทย์ที่ยาก คือ คนที่เสียประโยชน์จากนโยบายของเรา เราจะดูแลเขาอย่างไร ซึ่งเป็นเสน่ห์ที่ทำให้เราสนุกกับการเรียน และเรียนรู้ไปเรื่อยๆ จากโจทย์แต่ละโจทย์ที่ต้องการทักษะที่หลากหลาย และจากการไปเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ ด้วยความสมบูรณ์ของระบบเค้า ทำให้เราได้เห็นถึง impact ของนโยบาย พอกลับมาก็รู้สึกว่าเรามีโอกาสที่จะผลักดันเรื่องนี้ในบ้านเราได้อีกเยอะ ก็รู้สึกดีใจที่ตัดสินใจเลือกเดินเส้นทางอาชีพในสายนี้

ช่วงทำงาน กลับมาเริ่มทำงานประมาณปี 2545 ตอนนั้นเริ่มทำงานที่ NECTEC สวทช. ได้มีโอกาสทำงานด้านนโยบาย ICT ซึ่งถือว่าเป็นการบุกเบิกการวางรากฐานทางดิจิทัลในประเทศไทย พอได้มาสัมผัสงานจริงทำให้รู้ว่างานนโยบายเป็นงานที่สนุก เราต้องพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งที่ซับซ้อนให้มี structure และหาวิธีที่จะหาคำตอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราเข้ามาทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ต้องเชื่อมนโยบายไปถึงเรื่องผลกระทบเชิงสังคม พฤติกรรม โดยเฉพาะโจทย์ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ โจทย์ด้านนโยบายที่ออกมาต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่าใครจะได้ประโยชน์ ใครจะเสียประโยชน์ และจะมีแนวทางการบริหารจัดการอย่างไร

ดร.ปู เล่าชีวิตการทำงานจนกระทั่งได้มีโอกาสมาทำงานที่ สวทน. ซึ่งเป็นหน่วยนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยตรง ซึ่งก็เป็นสายที่ชอบอยู่แล้ว และยังเป็นรุ่นบุกเบิก 18 คนแรกที่ย้ายจาก สวทช. มา สวทน. และด้วยความเชื่อที่ว่างานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ถ้าจะให้ถึงการใช้ประโยชน์ได้ต้องเกี่ยวข้องกับนโยบาย อีกทั้งคิดว่าบ้านเรายังต้องการคนทำงานด้านนโยบาย จึงไม่รอช้าที่จะมาทำงานสายตรงที่ สวทน.

“ช่วงแรกของการทำงานที่ สวทน. เราปักหมุดการทำงานที่จะกระตุ้นให้ภาคเอกชนเห็นความสำคัญของการวิจัยและพัฒนา โดยตั้งเป้าหมายเพิ่มการลงทุน R&D ให้ถึง 1% ของ GDP โดยภาคเอกชนลงทุน 70% และภาครัฐลงทุน 30% ผ่านมาตรการสนับสนุนต่างๆ ซึ่งก่อนที่จะมีการตั้งเป้าหมายดังกล่าว ตัวเลขการลงทุน R&D ของไทยอยู่ที่ประมาณ 0.2% ของ GDP มาหลายสิบปี โดยภาครัฐลงทุนเป็นหลัก  ถ้าหากเราทำให้ตัวเลขการลงทุน R&D เป็น 1% ต่อ GDP ได้ เราจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงเศรษฐกิจที่ก้าวกระโดดขึ้น ซึ่งในปี 2560 ก็สามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”

ดร.ปู กล่าวต่อว่า งานนโยบายเป็นงานที่ใช้เวลา ต้องมองรายละเอียดรอบด้าน ในช่วงเวลาการทำงาน 10 ปี ในนาม สวทน. หลายนโยบายที่ได้รับการผลักดันอย่างประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว เช่น Talent Mobility, Food Innopolis, Work-integrated Learning (WiL), การส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม, การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค และอีกหลายนโยบาย ส่วนโครงการที่ยังอยู่ใน Pipe line เราก็ไม่ได้ทิ้ง เรายังคงทำงานสั่งสมข้อมูลเพื่อต่อยอดให้เกิดนโยบายในอนาคต

“หลังจากมีการเปลี่ยนผ่านจาก สวทน. มาเป็น สอวช. เราทำเรื่องการปฏิรูประบบค่อนข้างเยอะ และปรับวิธีการทำงาน โดยการตั้งโจทย์ที่เอา impact ปลายทางเป็นที่ตั้ง ซึ่งฟังดูง่ายแต่ทำยาก เราต้องดูเชิงระบบให้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคม ชุมชน การศึกษาและการพัฒนากำลังคน และไม่จำกัดเพียงด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี แต่ต้องมองจากมุมของสังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์ด้วย โดยการมองเชิงระบบจะทำให้เราเห็นภาพองค์รวม เข้าใจความสัมพันธ์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง และสามารถวิเคราะห์ช่องว่างในระบบปัจจุบัน เรานำโจทย์ที่เป็น agenda สำคัญของประเทศเข้ามากำหนดเป้าหมายว่าเราควรออกแบบระบบอย่างไร เพื่อรับมือกับ disruption และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ทำอย่างไรให้ระบบอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม สร้างความมั่นคงและยั่งยืนให้กับประเทศ นี่คือความท้าทายของ สอวช. และก็เป็นโอกาสของ สอวช. ที่จะขับเคลื่อน สร้างกลไกใหม่ๆ และกำหนด agenda ที่สำคัญเพื่อตอบโจทย์ประเทศ”

งานหลักที่ ดร.ปู ดูแลอยู่ คือ การทำนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน.  ซึ่งเป็นงานที่ต้องบูรณาการยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา กับยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัย และนวัตกรรม โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือ การยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงการต่อยอดการใช้ประโยชน์องค์ความรู้ทางด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ด้วย โดยได้จัดทำกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. พ.ศ. 2563 – 2570 ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ประกอบด้วย 4 แพลตฟอร์ม หรือ 4 เป้าประสงค์สำคัญ และ 16 โปรแกรม ซึ่งถือเป็นวาระการพัฒนาที่สำคัญในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ อววน. คือ แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคนและสถาบันความรู้ ประกอบด้วย 6 โปรแกรม คือ สร้างระบบผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ ผลิตกำลังคนระดับสูงรองรับ EEC ส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตและพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต ส่งเสริมปัญญาประดิษฐ์เป็นฐานขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ และโปรแกรมพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยที่สำคัญ แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม ประกอบด้วย 3 โปรแกรม คือ โจทย์ท้าทายด้านทรัพยากร สิ่งแวดล้อมและการเกษตร สังคมสูงวัย รวมถึงโปรแกรมสังคมคุณภาพและความมั่นคง แพลตฟอร์มที่ 3  การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ประกอบด้วย 3 โปรแกรม คือ ยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจ สร้างและยกระดับศักยภาพวิสาหกิจเริ่มต้น พัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมและเขตเศรษฐกิจนวัตกรรม และโปรแกรมโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพและบริการ และแพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ ประกอบด้วย 4 โปรแกรม คือ นวัตกรรมสำหรับเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนนวัตกรรม ขจัดความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ เมืองน่าอยู่ รวมถึงโปรแกรมการปฏิรูประบบการพัฒนา อววน. โดยมีการใช้ OKRs มาเป็นเครื่องมือในการกำหนดเป้าหมายและขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ อีกทั้งเรายังได้มีการปฏิรูประบบงบประมาณ (Budgeting Reform) เพื่อให้การจัดสรรงบประมาณสอดคล้องกับนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนด้าน อววน. ของประเทศ และเพื่อส่งเสริมการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมให้ดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผ่านกองทุนที่มีการจัดสรรงบประมาณในลักษณะเป็นก้อนใหญ่ (Block Grant) และต่อเนื่อง (Multi-year) ซึ่งสามารถตอบโจทย์ mission ระยะยาวได้

ดร.ปู กล่าวต่อว่า ด้วยความหลากหลายของงานที่รับผิดชอบที่ต้องการทั้งความเข้าใจเชิงลึกและเชิงกว้าง งานที่ดูแลอยู่จึงต้องอาศัยการทำงานเป็นทีม รวมกับฝ่ายต่างๆ ใน สอวช. และหน่วยงานพันธมิตรทั้งจากมหาวิทยาลัย หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และต่างประเทศ โดยรู้สึกโชคดีที่มีโอกาสทำงานสำคัญๆ ที่เป็น agenda ของรัฐบาลและของกระทรวง หนึ่งในนโยบายสำคัญที่กำลังทำงานอยู่คือ เรื่อง BCG  หรือ Bio – Circular – Green Economy ซึ่งเป็นงานที่หลายภาคส่วนทำร่วมกันและ สอวช. นำมาบูรณาการ ตอนนี้เริ่มมีกลไก มีงบประมาณลงมา หน้าที่ของเราตอนนี้คือต้องตามไปดูตาม milestone ว่ามีปัญหา อุปสรรคอะไร อะไรไม่ดีก็นำกลับมาแก้ไข นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ของประเทศไทย (Thailand’s National AI Strategy) เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ปัญญาประดิษฐ์ของประเทศ ซึ่งเป็นงานที่ท้าทายมาก ที่เราต้องดูทั้งในส่วนของการนำข้อมูลและปัญญาประดิษฐ์มาใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและประชาชนในประเทศ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศควรมีแนวทางอย่างไร ตลอดจนการสร้างความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนถึงความสำคัญและผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อการศึกษาและการทำงานในอนาคต  อีกเรื่องที่กำลังศึกษาอยู่คือ ยุทธศาสตร์การวิจัยพัฒนาและการลงทุนด้าน Earth Space System ซึ่งเป็นการรวมศาสตร์ต่างๆ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สามารถนำไปประยุกต์และสร้างคุณค่าต่อยอดในด้านอื่นๆ ได้อย่างมากมาย ในหลายอุตสาหกรรม ทั้งด้านการเกษตร พลังงาน วัสดุศาสตร์ หรือ Robotics รวมถึงสามารถเชื่อมโยงสู่การศึกษาความสัมพันธ์ของระบบของโลกและอวกาศ ต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่มีอิทธิพลและผลกระทบซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะองค์ความรู้เกี่ยวกับภูมิภาคแถบเส้นศูนย์สูตรยังไม่ชัดเจน หรือไม่ครบ ความรู้ในด้านนี้อาจนำไปสู่การพยากรณ์อากาศที่แม่นยำขึ้น การเฝ้าระวังและเตือนภัยล่วงหน้าจากภัยพิบัติธรรมชาติ ผลกระทบจากมลพิษในดิน น้ำและอากาศ และเสริมสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในการป้องกันประเทศ เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้ สอวช. ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานสำคัญที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน

ดร.ปู ยังเล่าถึงอีกงานที่ท้าทายอย่าง Frontier Research ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องลงทุนวันนี้ เพื่อที่จะตักตวงโอกาสของเราในอนาคตช่วง 10 – 20 ปีข้างหน้า เราให้นิยาม Frontier Research ว่าเป็นเป็นงานวิจัยที่นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็น New Discovery, First in Class หรือ Best in Class คือ เป็นคนแรกที่ค้นเจอ ในเรื่องนั้นๆ หรือเป็นเรื่องที่คนอื่นทำอยู่แล้ว แต่เราทำได้ดีกว่า Frontier Research เป็นการวิจัยขั้นแนวหน้าที่มีความเสี่ยงสูง แต่ถ้าทำได้สำเร็จเราจะได้ประโยชน์มากเช่นกัน (High Risk, Hight Return) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพอย่างเรื่องเทคโนโลยีควอนตัมยุคใหม่ (Quantum) การคำนวณเชิงควอนตัม หรือวิธีคิดอัลกอริทึมใหม่ ๆ เช่น การศึกษาพฤติกรรมการเจริญเติบโต และการทำลายเชื้อโรคในสภาวะต่าง ๆ จาก List ของสารที่มีคุณสมบัติต่าง ๆ โดยใช้การคำนวณและการจำลองเชิงควอนตัม ที่มีความเร็วมากกว่าคอมพิวเตอร์ปัจจุบันหลายพันเท่า มาวิเคราะห์โครงสร้างโมเลกุลเพื่อการออกแบบยาได้อย่างรวดเร็ว แม้โรคอย่าง COVID-19 ที่เผชิญในปัจจุบัน หรือโรคอุบัติใหม่ในอนาคต เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์ข้อมูลให้ได้ยารักษา หรือป้องกันโรคได้อย่างรวดเร็ว  อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีควอนตัมยุคใหม่นี้ยังอยู่ในขั้นงานวิจัยของทุกประเทศ  ทำให้เกิดการลงทุนอย่างมหาศาลเพื่อช่วงชิงโอกาสของการเป็นเจ้าของเทคโนโลยี โจทย์สำคัญที่ต้องคิดให้รอบคอบคือ เราควรมีการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา รวมถึงเตรียมคนของเราในด้านนี้อย่างไร เพื่อให้เรามีความพร้อมและมีความสามารถทัดเทียมนานาชาติ และอาจมีโอกาสเป็นเจ้าของเทคโนโลยีควอนตัมในบางสาขาในอนาคต

นอกจากนี้ ดร.ปู ได้เล่าถึงประสบการณ์ในการขับเคลื่อนงานด้านการต่างประเทศ ทั้งในเวทีอาเซียน สหประชาชาติ และ OECD ซึ่งเป็นงานท้าทายที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการกำหนด positioning และเจรจาต่อรองให้เกิดความร่วมมือแบบ win-win กันทุกฝ่าย และประเทศไทยได้ประโยชน์สูงสุด รวมถึงงานของฝ่ายใหม่ด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ที่ช่วยดูแลอยู่ เพื่อเชื่อมโยงการใช้ความรู้ที่ข้ามศาสตร์ และสร้างกลไกเชื่อมโยงระหว่างภาควิชาการและภาคนโยบาย เพื่อนำไปสู่การทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้ได้จริง

ก่อนจบการสัมภาษณ์ ดร.ปู ยังได้แลกเปลี่ยนถึงการทำงานด้านนโยบาย อววน. ที่จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงประเทศว่า นโยบายด้าน อววน. เป็นฐานของทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเกษตร สาธารณสุข กำลังคน สังคม ถ้าเราตั้งโจทย์ได้ถูก และเข้าใจในเชิงระบบ แล้วปักหมุดตรงพิกัด จะสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศได้

“พี่เชื่อว่าถ้าเราปักหมุดได้ถูก คือ 4 แพลตฟอร์มที่เราเซ็ต คือ การสร้างคนและองค์ความรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การตอบโจทย์ท้าทายสังคม และเราทำงานในเชิงระบบ เห็นความเชื่อมโยง  เมื่อมีความพร้อม ดึงเชือกทีเดียวมันยกประเทศได้ แล้วจะเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่เราต้องใจเย็น รอจังหวะ เราต้องมองเห็นว่าเศรษฐกิจจะปักหมุดตรงไหน สังคมเราจะปักหมุดตรงไหน ความมั่นคงเราจะปักหมุดตรงไหน แล้วทำงานแบบบูรณาการร่วมกับทุกคน”

แม้ว่าจากเนื้องานที่รับผิดชอบ และวิสัยทัศน์ที่แน่วแน่ที่จะเตรียมความพร้อมด้านนโยบายให้กับประเทศในอนาคต  แต่ life Style ของ ดร.ปู ในวันพักผ่อนกลับเป็นคนสบายๆ ชอบทำกับข้าว ทำสวน ชอบเดินเท้าเปล่าอยู่กับสนามหญ้าเพื่อผ่อนคลาย และนี่คือตัวตนของหญิงแกร่ง หนึ่งในผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์นโยบายเพื่อเตรียมพร้อมอนาคตให้กับประเทศ ดร. ปู – กาญจนา วานิชกร

Tags:

เรื่องล่าสุด