(22 มิถุนายน 2563) ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานการประชุมหารือการขับเคลื่อนการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research in Action) จัดโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าการจัดทำยุทธศาสตร์และแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้ารายสาขาโดยนักวิจัยรุ่นใหม่ อาทิสาขา Quantum Technology, EarthSpace System (ESS), High Energy Physics (HEP) และ Biological Sciences & Life Sciences
ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า ต้องขอบคุณในพลังคนรุ่นใหม่ที่มีความฮึกเหิมในการขับเคลื่อนประเทศผ่านการนำเสนออนาคตประเทศด้วยการวิจัยขั้นแนวหน้า หรือ Frontier Research ซึ่งโครงการการวิจัยขั้นแนวหน้า เป็นการลงทุนเพื่ออนาคตของประเทศด้านองค์ความรู้ การวิจัยและเทคโนโลยี และหากจะขับเคลื่อนประเทศสู่นิวนอร์มัลอย่างแท้จริง การวิจัยขั้นแนวหน้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยปรับโฉมไทยไปสู่จุดนั้น ซึ่งเชื่อว่าประเทศไทยมีศักยภาพที่จะทำได้หากทุกฝ่ายร่วมมือไม่แบ่งแยก อาจารย์ นักวิจัย ต้องทำงานร่วมกันแบบไม่มีหมวก ไม่มีสังกัด ต้องมีเป้าหมายร่วมกันคือเพื่อประเทศ โดยเอาความเชี่ยวชาญของตนมาร่วมพัฒนาประเทศแบ่งเป็นคลัสเตอร์องค์ความรู้ ไม่ใช่แบ่งตามสังกัดหน่วยงาน ต้องมาช่วยกันคิดว่าทำอย่างไรให้ไทยสามารถยืนบนขาตัวเองได้ด้วยทรัพยากรและบุคลากรของประเทศร่วมกับการหาความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนได้อย่างรวดเร็ว
“การตั้งกระทรวงใหม่ขึ้นมาโดยมีการนำมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมด้วยเพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมือกันเป็นกระทรวงที่รวมองค์ความรู้ระดับประเทศ เพราะฉะนั้นการทำงานของอาจารย์และบุคลากรของมหาวิทยาลัยรวมถึงสถาบันวิจัยนั้น ต้องเป็นในรูปแบบการเข้ามาร่วมมือกันแบบไม่แบ่งสังกัด ทรัพยากรต้องสามารถใช้ร่วมกันเพื่อพัฒนาประเทศได้ โครงการวิจัยขั้นแนวหน้าที่นักวิจัยรุ่นใหม่นำเสนอครั้งนี้ทำให้เห็นถึงพลังคนรุ่นใหม่ระดับหัวกะทิที่เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ โดยปัจจัยความสำเร็จของการวิจัยขั้นแนวหน้าตนมองว่า นอกจากการจับมือกันแน่นของนักวิจัยรุ่นใหม่แบบไม่แบ่งสังกัดแต่แบ่งจัดตามความเชี่ยวชาญความถนัดขององค์ความรู้ที่จะนำมาช่วยประเทศแล้ว ยังต้องผนวกกับความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน โดยกระทรวงมีหน้าที่ช่วยปลดล็อก และช่วยดูว่าอะไรที่เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยในการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่การวิจัยขั้นแนวหน้าได้บ้าง โดยกระทรวงเห็นความสำคัญของโครงการดังกล่าว และได้มอบหมายให้ สอวช. เป็นแม่งานในการนำนักวิจัยรุ่นใหม่พบนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะนับเป็นครั้งที่ 2 หลังจากเคยได้มีโอกาสนำเสนอและยื่นสมุดปกขาวการวิจัยขั้นแนวหน้าต่อนายกรัฐมนตรีมาก่อนหน้านี้แล้ว เพื่อนำเสนอให้เห็นความสำคัญในการทำวิจัยเพื่ออนาคตประเทศที่ชัดเจนขึ้น และทำให้เห็นภาพว่าการวิจัยขั้นแนวหน้าจะเป็นการพลิกโฉมประเทศสู่นิวนอร์มัลอย่างแท้จริง” ดร. สุวิทย์ กล่าว
สำหรับการนำเสนอของผู้แทนนักวิจัยรุ่นใหม่ในแต่ละสาขามีการนำเสนอที่น่าสนใจหลากหลาย ประกอบด้วยดร.ธนภัทร์ ดีสุวรรณ ผู้แทนจากกลุ่มนักวิจัยเทคโนโลยีควอนตัมในประเทศไทย ได้นำเสนอการวิจัยขั้นแนวหน้าด้านควอนตัมออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1) การคำนวณและการจำลองเชิงควอนตัม (quantum computing and simulation) 2) การสื่อสารเชิงควอนตัม (quantum communication) และ 3) มาตรวิทยาและการตรวจวัดเชิงควอนตัม (quantum metrology and sensing) ทั้งนี้ด้วยการที่เทคโนโลยีควอนตัมอยู่ในขั้นแรกเริ่มของการพัฒนา และมีความสำคัญอย่างมากเนื่องจากสามารถยกระดับเทคโนโลยีที่มีอยู่เดิมให้มีศักยภาพสูงขึ้น ทั้งในด้านความรวดเร็วในการประมวลผลของคอมพิวเตอร์ ความแม่นยำและความปลอดภัยทางด้านการสื่อสาร จึงมีหลายๆ ประเทศให้ความสำคัญในการลงทุนพัฒนา และผลักดันเทคโนโลยีควอนตัมอย่างจริงจัง เช่นประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนที่สามารถใช้เทคโนโลยีควอนตัมในการสร้างดาวเทียมและทดลองการส่งสัญญาณ รวมถึงการเข้ารหัสด้วยเทคโนโลยีควอนตัมได้ การนำเทคโนโลยีควอนตัมไปสร้างเซ็นเซอร์ในทางการแพทย์เพื่อตรวจตัวคลื่นสมองได้แม่นยำมากขึ้น เป็นต้น โดย ดร.ธนภัทร์ ได้เน้นยำถึงความจำเป็นที่จะสนับสนุนนักวิจัยไทยในการเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน การร่วมมือวิจัยกับต่างประเทศเพื่อสร้างโอกาสของประเทศไทยให้เป็นหนึ่งในฐานะผู้กำหนดทิศทางการใช้เทคโนโลยีควอนตัมระดับโลก
ทางด้าน ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้แทนนักวิจัยจากกลุ่มระบบโลกและอวกาศ ได้นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับการวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อการรับมือการภัยคุกคามจากธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้กรอบทิศทาง เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals, SDGs) ของสหประชาชาติ และเสนอให้มีการสนับสนุนในระยะยาวของกิจกรรมนอกอวกาศ (long term support of outer space activities) ซึ่งการพัฒนาและวิจัยเทคโนโลยีด้านอวกาศจะสร้างความสามารถด้านวิศวกรรมขั้นสูงให้กับประเทศ ตลอดจนถึงการสนับสนุนให้เกิดอุตสาหกรรมและนวัตกรรมด้านอวกาศได้ โดยเสนอหัวข้อการพัฒนา 3 ด้านคือ 1) สภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง 2) ผลกระทบต่อกิจกรรมอวกาศที่มีต่อโลก 3) การวิจัย สำรวจด้านอวกาศลึก และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจ ซึ่งการที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวต้องให้ความสำคัญต่อการสร้างกำลังคนผ่านการวิจัยขั้นแนวหน้าและการร่วมมือกับนานาชาติ รวมถึงการเพิ่มทักษะความรู้ด้านวิศวกรรมขั้นสูง และสนับสนุนให้เกิด การออกไปจัดตั้งบริษัท (spin off) เพื่อส่งออกเทคโนโลยีอวกาศได้
ดร.วิภู รุโจปการ ผู้แทนจากนักวิจัยกลุ่มฟิสิกส์พลังงานสูง กล่าวถึงโอกาสที่ไทยจะผลักดันด้านวิศวกรรมขั้นสูงโดยผ่านการเข้าร่วมกับหน่วยงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ใหญ่ระดับโลก เช่น องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) หรือผ่านโครงการหมู่กล้องโทรทรรศน์รังสีเชเรนคอฟ (Cherenkov Telescope Array หรือ CTA) ที่มักเป็นการร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ในระดับนานาชาติ (Global partnership) โดยมีรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุน สำหรับประเทศไทยแม้ได้เข้าร่วมกับโครงการด้านวิทยาศาสตร์ใหญ่ ๆ บ้าง แต่รัฐบาลควรสนับสนุนผลักดันให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกหลักในโครงการวิทยาศาสตร์ระดับโลก ซึ่งตั้งเป้าหมายภายในระยะ 10 ปี ประเทศไทยจะสามารถชนะประมูลหรือได้รับการคัดเลือกให้ร่วมออกแบบและสร้างงานด้านวิศวกรรมให้กับโครงการวิทยาศาสตร์เหล่านี้ได้
ดร.สมพลนาท สัมปัตตะวนิช ผู้แทนจากกลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ ด้าน BioFrontiers Initiativeได้ตีโจทย์การวิจัยขั้นแนวหน้าของกลุ่มว่าคือ การเตรียมความพร้อมของประเทศในการรับมือจากภัยคุกคุกความที่ส่งผลต่อชีวิตและสุขภาพของคนไทย เช่น ปัญหาอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลให้ความหลากหลายทางชีวภาพลดลง การเข้าสู่สังคมสูงวัยของไทยที่ต้องการเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงเรื่องภัยคุกความจากโรคอุบัติใหม่ โดยเน้นว่าต้องมีระบบนิเวศนวัตกรรมด้านชีวภาพเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งอุตสาหกรรมการดูแลสุขภาพ (Healthcare) มีการเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและมีมูลค่ามหาศาล โดยคาดว่าในปี 2012 จะมีมูลค่าตลาดถึง 11 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบริษัทชั้นนำระดับโลกไม่ว่าจะเป็น Google Apple Amazon ต่างหันมาจับงานด้านเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์ด้านสุขภาพ โดยทางกลุ่มนำเสนอแกนการวิจัยชีววิทยาระบบและชีววิทยาสังเคราะห์ (System biology and synthetic biology) เพื่อศึกษาการทำงานของสิ่งมีชีวิตตลอดจนถึงร่างกายซึ่งจะเอื้อประโยชน์ให้แพทย์สามารถออกแบบยารักษาโรครวมถึงอาหารเฉพาะบุคคลได้ และได้ยกตัวอย่างโยโกฮามะโมเดล ในการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมด้านชีวภาพที่ใช้ 3 ปัจจัยแห่งความสำเร็จ ได้แก่ การสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน การสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม และการประชาสัมพันธ์ให้สังคมรับรู้และเข้าใจความสำคัญในการสร้างเทคโนโลยีใหม่ที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในอนาคต นอกจากจะสามารถดึงดูดผู้มีความสามารถสูงมาทำงานแล้ว ยังเกิดบริษัทเทคโนโลยีเชิงลึกและการจ้างงานทักษะสูงมากมาย สามารถส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปทั่วโลก สำหรับประเทศไทยทางกลุ่มได้นำเสนอแผนงานโดย 1) สนับสนุนโครงการวิจัยร่วมระหว่างรัฐและเอกชน รวมถึงการแบ่งบันฐานข้อมูลชีวภาพให้นักวิจัยในไทยเข้าถึงได้ ภายใน 1-3 ปีแรก 2) ตั้งหน่วยงานดูแลและสนับสนุน Startups/SMEs ด้านเทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ ให้สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้ภายใน 5 ปี และ 3) การพัฒนาและยกระดับนักวิจัยไทยให้เข้าถึงความรู้และเทคโนโยลีขั้นสูงใหม่ ๆ โดยสามารถสร้างผู้ประกอบการระดับ Unicorn ได้ภายใน 10 ปี ซึ่งทางกลุ่มเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็น building blocks นำไปสู่ความสำเร็จ
ผศ.ดร.วศะพร จันทร์พุฒ ผู้แทนจากกลุ่มวิทยาศาสตร์ชีวภาพและการแพทย์ ด้านอาหารเพื่ออนาคต ได้กล่าวถึงประเทศไทยที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) สูงติดระดับโลกแต่ยังขาดการจัดการและใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ซึ่งอาจทำให้ประเทศพลาดโอกาสในการพัฒนาด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (BioEconomy) โดยได้นำเสนอแกนการวิจัยขั้นแนวหน้าในด้านเกษตรและอาหาร 3 แพลตฟอร์ม ซึ่งได้แก่ 1) แพลตฟอร์มด้านการจัดการทรัพยากรชีวภาพ (Bioresources) 2) แพลตฟอร์มด้าน Bioactive-Omics และ 3) แพลตฟอร์มอาหารเฉพาะบุคคล (Personalized Nutrition) โดยทาง รศ.ดร.ครศร ศรีกุลนาถ ได้กล่าวเสริมโดยการยกตัวอย่างการจัดการทรัพยากรชีวภาพที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงสัตว์ทดลองของศูนย์วิจัยไพรเมทแห่งชาติ จังหวัดสระบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 3 แห่งของโลกที่มีการเพาะเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ในการด้านแพทย์สำหรับทดสอบวัคซีนได้ และได้นำเสนอมาตรการในการจัดการทรัพยากรชีวภาพของไทย ได้แก่ การดูแลจัดเก็บสายพันธุ์อย่างเป็นระบบในรูปแบบการผสมพันธุ์เพื่อรักษาสายพันธุ์และตัวอย่างแช่แข็ง การจัดเก็บข้อมูลทางชีวภาพระดับจีโนมส์เพื่อศึกษาลักษณะเด่นของสายพันธุ์ในสัตว์เศรษฐกิจเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ทางการเกษตรหรือการแพทย์ การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดเก็บรักษาพันธุ์ และการตั้งศูนย์ข้อมูลกลางที่จัดการข้อมูลความหลากหลายชีวภาพของไทย ในส่วนเทคโนโลยีโอมิกส์มีวัตถุประสงค์เพื่อหา Biomarkers สำหรับการผลิตอาหารเฉพาะบุคคลตั้งแต่การเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ หาสารสำคัญเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ จนถึงข้อมูลของการบริโภคอาหารต่อสุขภาพ ประโยชน์ในการป้องกันรักษาและความเป็นพิษ โดยทั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อการป้องกันและรักษาผู้ป่วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs และสร้างอุตสาหกรรมใหม่จากอาหารเฉพาะบุคคล เป็นต้น
ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า จากการนำเสนอการวิจัยขั้นแนวหน้ารายสาขาของนักวิจัยรุ่นใหม่ทำให้เห็นภาพชัดขึ้น โดยก้าวต่อไปต้องโฟกัสภาพของประเทศไทยว่าเราจะเดินในทิศทางไหน ทั้งนี้ มองว่าเส้นทางของการเกิดการวิจัยขั้นแนวหน้ามีพื้นฐานเริ่มมาจากวิทยาศาสตร์ และพัฒนาเป็นการวิจัยขั้นแนวหน้าผ่านการบ่มเพาะให้เกิดเทคโนโลยีขั้นสูง และขับเคลื่อนออกสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งการจะให้เกิดเส้นทางดังกล่าวได้ต้องมีการสร้างระบบนิเวศน์ (ecosystem) ที่เหมาะสม ซึ่งหนึ่งในปัจจัยสำคัญคือกำลังคนระดับมันสมองที่ต้องเข้ามาช่วยกันพัฒนา
สำหรับความสำคัญของการวิจัยขั้นแนวหน้านั้น ดร. กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวรายงานในที่ประชุมว่า หากถามว่าทำไมประเทศไทยจึงต้องลงทุนด้านการวิจัยขั้นแนวหน้า สอวช. และนักวิจัยรุ่นใหม่เห็นร่วมกันว่า งานวิจัยขั้นแนวหน้าจะช่วยสร้างความรู้ ความเป็นเลิศ และความสามารถในการสร้างเทคโนโลยีขั้นสูงที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับระบบนวัตกรรมไทย สร้างอุตสาหกรรมอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นผู้ส่งออกเทคโนโลยีและนวัตกรรม อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพในการรับมือภัยคุกคามอันเกิดจากภาวะวิกฤตและเทคโนโลยีที่แปรเปลี่ยนสู่ความสามารถพึ่งพาตัวเองได้ และหลังจาก สอวช. ได้มีการนำนักวิจัยรุ่นใหม่ยืนสมุดปกขาวต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อช่วงปลายปี 2561 แล้ว การวิจัยขั้นแนวหน้าได้ถูกผลักดันให้บรรจุเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) ใน พรบ. สภานโยบาย อววน. พ.ศ. 2562 มาตรา 54 และยังได้รับการบรรจุเป็นแผนงานสำคัญของนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. และแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2563 – 2570 ทั้งนี้ แผนงานการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ ได้รับการจัดสรรงบประมาณจากกองทุน ววน. ประจำปี 2563 จำนวน 757 ล้านบาท และกรอบงบประมาณประจำปี 2564 จำนวน 1,587 ล้านบาท พร้อมทั้งมอบหมายให้หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นหน่วยบริหารแผนงานการวิจัยขั้นแนวหน้าฯ และจัดการทุน และขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำกรอบยุทธศาสตร์และแผนที่นำทางการวิจัยขั้นแนวหน้ารายสาขา ซึ่งแบ่งเป็น 3 ด้านหลักๆ คือ 1. Physical Sciences & Engineering แบ่งเป็น Quantum Technology Earth-Space System และ High-Energy Physics 2. Biological Sciences & Life Sciences และ 3. Social Sciences, Humanities & Arts
นอกจากนี้ จากการทำงานร่วมกันของ สอวช. กับประชาคมวิจัย และทีมนักวิจัยรุ่นใหม่ซึ่งมาจากหลากหลายมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยและหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. เห็นว่าปัจจัยแห่งความสำเร็จในการเกิดการวิจัยขั้นแนวหน้าของไทย คือ กำลังคนและผู้เชี่ยวชาญ กรอบและโจทย์วิจัยที่เหมาะสมและท้าทาย เงินทุนสนับสนุนที่ต่อเนื่อง ระบบบริหารจัดการและการติดตามประเมินผลที่เหมาะสมกับการวิจัยขั้นแนวหน้า ที่ใช้เวลานานและมีความเสี่ยงสูง การเชื่อมโยงกับภาคเอกชน การสื่อสารให้สังคมเข้าใจถึงบทบาทและความสำคัญของการวิจัยขั้นแนวหน้า และความร่วมมือกับทีมวิจัยและองค์กรวิจัยขั้นแนวหน้าของโลก