messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » “สุวิทย์” พบนักวิจัย สอวช. ชื่นชมการนำเสนอแนวคิดจากคนรุ่นใหม่ในการมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ

“สุวิทย์” พบนักวิจัย สอวช. ชื่นชมการนำเสนอแนวคิดจากคนรุ่นใหม่ในการมุ่งมั่นพัฒนาประเทศ

วันที่เผยแพร่ 14 กรกฎาคม 2020 536 Views

เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เดินทางมายัง สำนักงานสภาโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เพื่อพบนักวิจัยรุ่นใหม่ และรับฟังการนำเสนอแนวคิดนักวิจัยรุ่นใหม่ต่อแนวทางในการพัฒนาประเทศ ภายใต้กิจกรรม Designing the Future: Meet NXPO Young Researchers

โดยในกิจกรรมมีนักวิจัย สอวช. หลากหลายสาขานำเสนอไอเดียทั้งประเด็น Science for Society โดยมีแนวคิดในการเผยแพร่ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในรูปแบบที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าใจ เข้าถึงได้ ให้ความสนใจ และนำไปต่อยอด สู่สังคมวงกว้างได้ การนำเสนอแนวคิด “Thailand Talent” โดยการดึงศักยภาพจากคนกลุ่ม Talent ซึ่งประเทศไทยมีโครงการผลิตกำลังคนระดับสูงจำนวนมาก จากโครงการให้ทุนต่างๆ มาพัฒนาประเทศ โดยเริ่มตั้งแต่การทำแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูล การบริหารจัดการเชิงรุก เพื่อให้กำลังคนเข้าสู่เส้นทางอาชีพที่เหมาะสม พัฒนาแรงจูงใจและผ่อนคลายกฎระเบียบ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์กำลังคนเต็มที่ นอกจากนี้ นักวิจัย สอวช. ยังได้เสนอไอเดีย Citizen Scientist ผลักดันให้เกิดนักวิทยาศาสตร์พลเมือง ผ่านการตั้งโจทย์วิจัย โดยมองจากสิ่งรอบตัว เห็นปัญหา และมาร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ หาแนวทางแก้ไขหรือป้องกันและผลักดันให้เป็นนโยบายที่ปฏิบัติได้จริง รวมถึงยังมีการเสนอแนวคิด Inclusive Innovation for special needs, การประเมินศักยภาพทางวิชาการของหน่วยงานวิจัยเพื่อการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทุน เพื่อให้หน่วยนโยบายมีข้อมูลสำหรับการจัดทำนโยบาย และทำให้การจัดสรรงบประมาณวิจัยมีประสิทธิภาพและตรงเป้าหมาย, แนวคิดแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างยืน ซึ่งเท่ากับ เศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตดี มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้องค์ความรู้ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนให้เกิดระบบการจัดการท่องเที่ยวทางทะเลอย่างยั่งยืนและมีส่วนร่วม

อีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจคือ Innovation for K-12 Education โดยนำเสนอนวัตกรรมใน 6 มิติ คือ 1.ระบบตรวจสอบรายชื่อและความพร้อม (การตรวจวัดอุณหภูมิ การสวมหน้ากากอนามัย) ก่อนเข้าโรงเรียน 2. School Bubbles จัดกลุ่มของครูและนักเรียนที่มีขนาดเล็ก ที่ทำกิจกรรมการเรียนการสอนร่วมกันในชั้นเรียน โดยมีการกำหนด Physical Distance และการจัดอุปกรณ์การเรียนเฉพาะกลุ่ม 3.ระบบติดตามว่าใกล้ชิดใครบ้าง (โดยเฉพาะเด็กเล็ก) และเคยเดินทางไปที่ไหนบ้าง (ระบบ Internet และ GPS) 4. Digital Learning Platform for Blended/ Hybrid learning 5. ระบบให้คำปรึกษาแบบออนไลน์ระหว่างครู-อาจารย์และผู้ปกครอง (หลักสูตร กิจกรรม วิธีการสอน) 6. ระบบครูพี่เลี้ยง โดยครูผู้ช่วยครูประจำชั้นเชื่อมโยงนักเรียนและผู้ปกครอง และระบบการเรียนการสอน โดยเฉพาะช่วง Digital Transformation นอกจากนี้ยังมีการนำเสนอแนวคิด การพัฒนาระบบการจัดสรรและบริหารงบประมาณ อววน. แบบ Block grant และ Multi-year, แนวคิดการส่งเสริมบทบาทธุรกิจที่ใช้ความรู้เข้มข้นให้บริการ (KIBS) เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีในภาคธุรกิจ ผ่านการส่งเสริมบทบาทของ KIBS ในการเป็นตัวกลางในการยกระดับนวัตกรรมภาคเอกชน ตลอดจนให้ภาครัฐเป็นตัวกลางให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่าง KIBS และบริษัทลูกค้า และสนับสนุนด้านการเงินแก่บริษัทที่ต้องการใช้บริการจาก KIBS

แนวคิด Open Innovation Platform ซึ่งเป็นแนวคิดที่ออกแบบมาเพื่อใช้ประโยชน์จาก wisdom of the crowd ผ่านการทำงานร่วมมือกันแบบ Multi-disciplinary โดยการร่วมมือของกลุ่มคนหลากหลายกลุ่ม นำเสนอนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาท้าทายของสังคมและแนวคิดที่ดีที่สุดจะได้รับการสนับสนุนให้เกิดขึ้นจริง หรือ นำไปปฏิบัติโดยผู้มีส่วนรับผิดชอบ นอกจากนี้ ยังมีการเสนอแนวคิด “Thailand Graduates Hub (TGH)” โดยมองว่า ประเด็นหนึ่งของการหาคนให้ตรงกับงานคือ ผู้เรียน บัณฑิต รู้ตัวเองว่ามีทักษะอะไร แต่ไม่สามารถบอกกับผู้ที่ต้องการได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการรู้ว่าเขาต้องการทักษะอะไร แต่ไม่รู้จะไปหาจากไหน จึงมองว่าประเทศไทยควรมีแพลตฟอร์มกลางที่สามารถให้คนไทยตั้งแต่ระดับอุดมศึกษา ได้มีช่องทางในการอัพเดทข้อมูลการเรียน การอบรม ทักษะของตนเอง และผู้ประกอบการ ก็สามารถเค้ามาค้นหาตามความต้องการแบบเฉพาะเจาะจงได้ว่าอยากได้คนที่มีทักษะแบบไหน ผลการเรียนแต่ละวิชาเป็นอย่างไร เป็นการจับคู่ทักษะความต้องการที่ตรงกัน

งานนี้ หัวเรือใหญ่แห่ง สวอช. ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการฯ ได้เรียนต่อ รมว.อว. ว่าแนวคิดที่นำเสนอข้างต้นเป็นแนวคิดส่วนหนึ่งที่นักวิจัย สอวช. สนใจอยากนำเสนอ ซึ่งเชื่อว่าหลายแนวคิดสามารถนำไปขยายผลเป็นนโยบาย หลายแนวคิดสามารถนำไปเป็นเครื่องมือสำหรับขับเคลื่อนนโยบายของ อว. ในปัจจุบันหรือมีแนวคิดจะขับเคลื่อนในอนาคต

โดย ดร.สุวิทย์ รัฐมนตรี อว. กล่าวชื่นชมนักวิจัยทุกคน ว่ามีความตั้งใจในการนำเสนอแนวคิด และนำเสนอได้อย่างชัดเจนในทุกหัวข้อ ทั้งนี้ภาพใหญ่ที่อยากฝากไว้คือ วันนี้ สอวช.เป็นหน่วยงานทีมีบทบาทภารกิจมากกว่าด้านวิทยาศาสตร์ แต่ผนวกรวม มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ด้วย ดังนั้นจึงต้องรับผิดชอบในมิติที่กว้างขึ้น เพื่อตอบโจทย์ของประเทศ และอยากให้มองว่า สอวช. คือหน่วยงานที่จะทำให้เกิด Game Changer ที่ไม่ใช่แค่การทำนโยบาย แต่หมายรวมถึงการนำเสนอแนวคิดเพื่อปฏิรูป ปลดล็อกต่างๆ เพื่อไปสู่เป้าหมายการพัฒนาประเทศได้

“แนวคิดวันนี้ผมมองว่าสำคัญ บางครั้งเรื่องเล็ก ๆ ก็สามารถขับเคลื่อนไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้”
รัฐมนตรี กล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจ

Tags:

เรื่องล่าสุด