messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. จัดเวทีเจาะลึกแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร โอกาสของไทยในตลาดโลกยุคนิวนอร์มัล ผุดไอเดีย Food Navigator นำทางสร้างความเข้มแข็งให้ SME ในธุรกิจอาหารของไทย

สอวช. จัดเวทีเจาะลึกแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร โอกาสของไทยในตลาดโลกยุคนิวนอร์มัล ผุดไอเดีย Food Navigator นำทางสร้างความเข้มแข็งให้ SME ในธุรกิจอาหารของไทย

วันที่เผยแพร่ 28 สิงหาคม 2020 513 Views

(27 สิงหาคม 2563) เวที Recovery Forum ในสัปดาห์นี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดขึ้นในหัวข้อ “แนวโน้มอุตสาหกรรมอาหาร: โอกาสของประเทศไทยในตลาดโลกยุคนิวนอร์มัล” โดยได้รับเกีบรติจาก คุณพูลสวัสดิ์ เผ่าประพัธน์ ที่ปรึกษาคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) มาแลกเปลี่ยน

คุณพูลสวัสดิ์ ได้เจาะลึกอุตสาหกรรมอาหารที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยมี 5 ปัจจัยที่เป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง คือ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ประชากรโลกที่มีอายุมากขึ้น ความเป็นสังคมเมือง การเปลี่ยนของขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ และการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยได้แลกเปลี่ยนถึงไอเดียธุรกิจอาหารในอนาคตว่าจะเกิดวัตถุดิบเลียนแบบที่มาทดแทนวัตถุดิบดั้งเดิม ขนมแช่แข็ง อาหารพร้อมทาน อาหารเสริมเด็ก โปรตีนบาร์ที่มาจากแมลง อาหารเหลวสำหรับผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เครื่องดื่มให้พลังงาน รวมถึงขนมขบเคี้ยวที่มาจากผัก ผลไม้ ซึ่งการจะสร้างธุรกิจอาหารในอนาคตให้ประสบความสำเร็จ ต้องคำนึงถึงไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า เน้นจุดขายเพื่อสุขภาพ ตลาดผู้สูงอายุ จุดขายเรื่องรักษ์โลก รวมถึงจุดขายด้านความมั่นคงทางอาหาร ส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น

“ช่วงสถานการณ์โควิด-19 รูปแบบของธุรกิจอาหารปรับตัวอย่างรวดเร็ว อย่างในยุโรปเกิด Ghost Kitchen หรือการขายแบบไม่มีหน้าร้านเพื่อรองรับตลาดออนไลน์ รวมถึงเกิด Mobile Kitchen โดยสั่งผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งเป็นการปรับตัวของธุรกิจอาหารที่น่าสนใจและได้ผลตอบรับที่ดีมาก จากข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมฯ พบว่าจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดนิวนอร์มัลในธุรกิจอาหาร คือ ผู้ประกอบการต้องปรับตัวจากโลกออฟไลน์สู่โลกออนไลน์เพื่อตอบรับพฤติกรรมใหม่ของผู้บริโภค การปรับตัวของร้านอาหารสู่แพลตฟอร์ม Food Delivery โดยในช่วงโควิด ผู้คนหันมาใช้บริการ Food Delivery มากถึง 85% และจากที่ผู้บริโภคมีไลฟ์สไตล์ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น การพัฒนาอาหารในรูปแบบอาหารเพื่อสุขภาพยังคงเติบโตได้ดี และพฤติการการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภคเปลี่ยนไปคือ ซื้อสินค้าและบริการด้วยเหตุผลมากกว่าอารมณ์ เนื่องจากเศรษฐกิจฝืดเคือง” คุณพูลสวัสดิ์ กล่าว

ข้อมูลของกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร ยังได้เปิดเผยถึงเทรนด์อาหารในปี 2020 ที่แนะให้ผู้ผลิตเร่งปรับตัวรับกระแสสุขภาพ คือ เทรนด์โปรตีนทางเลือกทดแทนเนื้อสัตว์ ลดน้ำตาลและหันมาใช้ความหวานที่เป็นมิตรกับสุขภาพ อาหารพร้อมทานเพื่อสุขภาพ ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับอาหารผู้สูงอายุและโภชนาการเฉพาะบุคคล เน้นวัตถุดิบและส่วนผสมที่มาจากท้องถิ่น การเพิ่มขึ้นของเครื่องดื่มสีใสที่แต่งกลิ่นและรสชาดให้สดชื่นยิ่งขึ้น รวมถึงเทรนด์ Function Food เป็นต้น

นอกจากนี้ นายพูลสวัสดิ์ ยังได้เสนอแนวคิดเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ SME ในธุรกิจอาหารของไทย ผ่านการเสนอแนวคิด Food Navigator ที่จะเป็นแพลตฟอร์มรวมข้อมูลมหาศาลที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารตั้งแต่ต้นน้ำ คือ แหล่งเกษตรกรรม แหล่งเพาะปลูก ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ งานวิจัย และโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ กลางน้ำ คือ ระบบการขนส่ง คลัง โรงงานผลิตและแปรรูปอาหาร เทคโนโลยี และปลายน้ำ คือ ตลาดในประเทศ ตลาด AEC ตลาดโลก ตลอดจนข้อมูลอุปสงค์อุปทาน เป็นต้น ซึ่งหาก Food Navigator เกิดขึ้น จะเป็นเครื่องมือนำทางสำคัญของ SME ไทยในการเพิ่มโอกาสดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้

ด้าน ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า แนวคิด Food Navigator เป็นแนวคิดที่น่าสนใจ ที่นำความต้องการของตลาดเป็นตัวตั้ง โจทย์สำคัญคือ แหล่งที่มาของข้อมูลความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนใหญ่มีอยู่ในบริษัทใหญ่ๆ เราจะสร้างกลไก หรือประสานความร่วมมืออย่างไรเพื่อให้เกิดการแชร์ข้อมูล และเมื่อมีข้อมูลอยู่ในมือแล้วควรมีทีมที่ช่วยวิเคราะห์แปลงผลความต้องการของตลาดให้ SME หรือไม่ หรืออีกแนวทางคือมีความจำเป็นที่ต้องเสริมทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการตลาดให้ SME เพื่อให้สามารถนำข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยหรือไม่  ส่วนด้านการบริหารจัดการแพลตฟอร์มต้องหาแนวทางที่จะมาช่วยขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นได้ เช่น ทำให้เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างรายได้ และสร้าง eco-system ให้กับแพลตฟอร์ม เป็นต้น

Tags:

เรื่องล่าสุด