messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ เคาะกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ปี 65 ที่ 24,400 ลบ. เพิ่มขึ้น 22.50 % จากปี 64 ตั้ง “ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์” ประธานพิจารณากองทุน พร้อมเห็นชอบแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ขณะเดียวกันมีมติให้มี “วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ TASSHA” ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ

สภานโยบายการอุดมศึกษาฯ เคาะกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ปี 65 ที่ 24,400 ลบ. เพิ่มขึ้น 22.50 % จากปี 64 ตั้ง “ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์” ประธานพิจารณากองทุน พร้อมเห็นชอบแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต ลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ขณะเดียวกันมีมติให้มี “วิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ TASSHA” ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ

วันที่เผยแพร่ 5 พฤศจิกายน 2020 628 Views

เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ในฐานะเลขานุการและดูแลงานวิชาการสภานโยบาย จัดการประชุมสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2563 ที่ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พร้อมด้วย ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ศ.ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ทำหน้าที่รองประธานที่ประชุม

นายดอน กล่าวว่า การประชุมสภานโยบายครั้งที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ สอวช. ไประดมสมองภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อมาวิเคราะห์ จัดทำแนวทางการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของเด็กและเยาวชนควบคู่กับการจัดการศึกษาปกติ เพื่อพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้เป็นทั้งคนเก่งและคนดี เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และวิถีชีวิต ดังนั้น ทักษะ จึงจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันและอนาคตให้กับเด็กและเยาวชน เช่น ทักษะด้านภาษา ด้านการใช้เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์  การสื่อสารและทำงานร่วมกับผู้อื่น ความคิดริเริ่มอย่างสร้างสรรค์ ความอดทน และความสามารถในการปรับตัว  เป็นต้น นอกจากการพัฒนาทักษะสำหรับศตวรรษที่ 21 ควรมีการเพิ่มเติมคุณลักษณะที่พึงประสงค์บางประการสำหรับสังคมไทย อาทิ คุณธรรม จริยธรรม ความรับผิดชอบ ความมีจิตสาธารณะ ระเบียบ วินัย ความมีสมาธิ และภูมิคุ้มกันทางใจ ซึ่งเป็นคุณลักษณะที่จำเป็นสำหรับการอยู่ร่วมกันอย่างปกติสุขในสังคมด้วย ซึ่ง สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของสภานโยบายฯ ได้รายงานความก้าวหน้าในประเด็นดังกล่าว โดยได้ดำเนินการศึกษา รวมถึงสัมภาษณ์เชิงลึกกับนักเรียน นักศึกษา ครู และจัดประชุมระดมความคิดเห็นร่วมกับผู้ทรงคุณวุฒิ และได้จัดทำข้อเสนอแนะให้มีการสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ให้กับเด็กและเยาวชนควบคู่กับการจัดการศึกษาปกติ ซึ่งประกอบไปด้วยด้านต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาระบบนิเวศให้เรื่องคุณธรรมจริยธรรมเป็นวิถีแห่งชีวิต การพัฒนากระบวนการหรือโมเดลทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการกำหนดกิจกรรมและมีแรงบันดาลใจ การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้เล่นในระบบและส่งเสริมการทำงานเชื่อมโยงกันระหว่างเด็ก ครู ชุมชน ท้องถิ่น เอกชน อปท. เป็นต้น การขยายผลแนวปฏิบัติที่ดี การปรับระบบบริหารจัดการให้คล่องตัว และกระจายอำนาจระบบการศึกษามากขึ้น การพัฒนาและใช้ประโยชน์แพลตฟอร์มเทคโนโลยีและสื่อเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ และการพัฒนานโยบายมหภาคที่มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งจะนำไปสู่การประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อขับเคลื่อนการวิจัย พัฒนาต้นแบบ และทดลองขยายผลแนวปฏิบัติที่ดีเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อไป

ด้าน ศ.ดร.เอนก กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรอบวงเงินงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ได้เสนอกรอบวงเงินงบประมาณด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 จำนวน 24,400 ล้านบาท ซึ่งหากเทียบกับงบประมาณ ววน. เมื่อปีงบประมาณ 2564 ที่ได้รับจำนวน 19,917 ล้านบาท จะเพิ่มขึ้น 22.50 % หรือ 4,483 ล้านบาท โดยในปีงบประมาณ 2565 ได้กำหนดสัดส่วนงบประมาณระหว่างทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ต่อ ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) อยู่ที่ 60 : 40 และได้กำหนดแนวทางการบริหารงบประมาณแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์ เช่น มีการจัดสรรงบประมาณแบบวงเงินรวม (Block Grant) ต่อเนื่องแบบหลายปี (Multi-year Budgeting) มีการพิจารณาผลการทำงานแต่ละแพลตฟอร์มของปีที่ผ่านมาและมีการจัดลำดับความสำคัญ (Priority) ซึ่งที่ประชุมสภานโยบายได้มีมติเห็นชอบกรอบวงเงินงบประมาณ และแนวทางการบริหารงบประมาณดังกล่าว โดยฝ่ายเลขานุการจะดำเนินการเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้ ได้มีมติแต่งตั้งศาสตราจารย์ ดร. สมคิด เลิศไพฑูรย์ เป็นประธานกรรมการพิจารณางบประมาณด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เพื่อทำหน้าที่พิจารณาคำของบประมาณของกองทุน

“ภายใต้กรอบงบประมาณด้าน ววน. ประจำปีงบประมาณ 2565 ที่มีแผนงานต่อเนื่องใน 4 แพลตฟอร์ม และโปรแกรมการปฏิรูประบบ ววน. ตามแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2563 – 2565 (ฉบับปรับปรุง) ซึ่งประกอบด้วย แพลตฟอร์มที่ 1 การพัฒนากำลังคน ยกระดับสถาบันความรู้ และระบบนิเวศด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม แพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งยกระดับการพึ่งพาตนเองในระดับประเทศ และแพลตฟอร์มที่ 4 การวิจัยและสร้างนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ และยังคงเพิ่มโปรแกรมการแก้ไขปัญหาวิกฤตเร่งด่วนของประเทศ โดยมีตัวอย่างแผนงานใหม่ที่น่าสนใจ เช่น 1. แผนงานธรรมาภิบาลการบริหารจัดการภาครัฐและลดคอรัปชั่น 2. แผนงานด้านนวัตกรรมเพื่อพัฒนาระบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต 3. แผนงานด้านสุวรรณภูมิศึกษา 4. แผนงานด้านการพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ และ 5. แผนงานด้าน Open Society ซึ่งการดำเนินงานภายใต้กรอบงบประมาณมุ่งเน้นให้สอดคล้องกับการตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ และมุ่งผลลัพธ์ในการสนับสนุนกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ทั้งเยาวชนและประชาชนทั่วไป นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย แรงงานและผู้ประกอบการในอนาคต บัณฑิต Smart Farmers SMEs ผู้ประกอบการ Startups วิสาหกิจชุมชน ภาคเอกชน ภาคครัวเรือน ตลอดจนชุมชน เป็นต้น” รมว.อว. กล่าว

ขณะที่ ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวง อว. กล่าวว่า อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาหารือและได้มีมติเห็นชอบในหลักการพร้อมได้มอบหมายให้ อว. ดำเนินการ คือ โครงการจัดตั้งวิทยสถานสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย หรือ TASSHA (Thailand Academy of Social Sciences, Humanities and Arts) ที่ อว. นำเสนอให้จัดตั้งขึ้น เพราะเห็นความสำคัญของระบบและโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการวิจัยสาขาสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และการบูรณาการองค์ความรู้แบบสหวิทยาการซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบการวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ ซึ่งจะนำมาสู่การแก้ปัญหาแบบองค์รวม การสร้างเทคนิค องค์ความรู้ การพัฒนางานวิจัยใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบันและอนาคต โดย TASSHA จะทำหน้าที่ขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนาบุคลากรด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ และศิลปกรรมศาสตร์ของประเทศ และนำไปสู่การสร้างคุณค่าและผลประโยชน์ของชาติ เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านการเชื่อมโยงประเทศไทยเข้ากับภูมิภาคและโลกต่อไป

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ.สอวช. กล่าวว่า ในที่ประชุมสภานโยบายฯ ยังได้ให้ความเห็นชอบต่อแผนด้านการอุดมศึกษาเพื่อผลิตและพัฒนากำลังคนของประเทศ พ.ศ. 2564 – 2570 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ โดยแผนดังกล่าวได้จัดทำขึ้นโดย อว. และได้ผ่านความเห็นชอบในหลักการในที่ประชุมคณะกรรมการการอุดมศึกษาที่ประชุมสภานโยบายฯ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี และที่ประชุมสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อีกทั้งคณะกรรมการการอุดมศึกษาได้ประกาศใช้แผนดังกล่าวต่อประชาคมอุดมศึกษาเมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ แผนฯดังกล่าวมีวิสัยทัศน์คือ “อุดมศึกษาสร้างคน สร้างปัญญา เพื่อพัฒนาสังคมไทยอย่างยั่งยืน” ประกอบด้วยประเด็นยุทธศาสตร์ 3 ด้าน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาศักยภาพคน (Capacity Building) ยุทธศาสตร์ที่ 2 การส่งเสริมระบบนิเวศวิจัยอุดมศึกษา (Research Ecosystem Building) และยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดระบบอุดมศึกษาใหม่ (Higher Education Transformation) โดยแผนนี้จะนำไปสู่การพัฒนาสังคมไทยที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้อและสนับสนุนต่อการพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ เกิดการพัฒนาคนไทยให้เป็นคนดี คนเก่ง มีคุณภาพ พร้อมสำหรับวิถีชีวิตในศตวรรษที่ 21 ผลักดันให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ก้าวพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง และส่งเสริมความโปร่งใสในภาครัฐให้ปลอดการทุจริตและประพฤติมิชอบ พร้อมปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการดำเนินงานต่อจากนี้ จะมีการถ่ายทอดแผนดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติในสถาบันอุดมศึกษา และจะมีการใช้แผนดังกล่าวเป็นกรอบกำหนดทิศทางของนโยบาย แผน ยุทธศาสตร์และแนวทางปฏิบัติในด้านการอุดมศึกษา และใช้จัดทำงบประมาณด้านการอุดมศึกษา และนำไปสู่การจัดทำกฎกระทรวง หลักเกณฑ์ มาตรการที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนแผน ทั้งนี้ คณะกรรมการการอุดมศึกษา และคณะกรรมการมาตรฐานการอุดมศึกษาจะติดตามประเมินผลตามเป้าหมายและทิศทางที่ได้กำหนดไว้ในแผน เพื่อให้การขับเคลื่อนแผนเกิดประสิทธิผลต่อไป

Tags:

เรื่องล่าสุด