(12 พฤศจิกายน 2563) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุม Knowledge Sharing กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก Holding Company
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า หลังจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับมาตรการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมโดยการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศด้วยกลไก Holding Company สอวช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการสภานโยบายฯ จึงได้เร่งศึกษา และดำเนินงานสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ และการบังคับใช้กฎหมายในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการร่วมลงทุน โดยได้เชิญมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยร่วมประชุม Knowledge Sharing ประเด็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก Holding Company เพื่อสร้างความเข้าใจ และรับฟังความเห็นประเด็นกฎหมายที่เป็นปัญหาและอุปสรรค อันจะช่วยส่งเสริมให้มหาวิทยาลัยสามารถตัดสินใจและขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ เพื่อเป็นเวทีรับฟังข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอในประเด็นทางกฎหมาย สิทธิประโยชน์ และมาตรการส่งเสริมอื่น ๆ เพื่อนำไปจัดทำมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก Holding Company โดยคาดหวังว่าจะส่งผลให้การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเกิดประสิทธิผล และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชนที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่า และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้
“มาตรการส่งเสริมการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมโดยการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนด้วยกลไก Holding Company ที่เรามาพูดคุยกันในวันนี้เป็นกลไกที่จะช่วยผลักดันงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งหน่วยงานของรัฐ และมหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศก็ใช้กลไกนี้และประสบความสำเร็จมาแล้ว เนื่องจาก Holding Company มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากหน่วยงานวิจัยของรัฐหรือมหาวิทยาลัย โดยมีการบริหารงานแบบมืออาชีพ มีความคล่องตัวสูงเหมาะกับการดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะก่อให้เกิดการสร้างรายได้และการจ้างงานเพิ่มมากขึ้นในระบบวิจัยและนวัตกรรม อันจะช่วยในการยกระดับเศรษฐกิจนวัตกรรมให้กับประเทศ และเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเพิ่มสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาของภาครัฐเป็น 30% ในปี 2565 (ข้อมูลปีรอบปีสำรวจ 2562 ลงทุนของภาคเอกชนคิดเป็น 78% ภาครัฐ 22%)” ดร.กิติพงค์ กล่าว
ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้จากธุรกิจทั่วประเทศไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 23 ล้านล้านบาท โดย 60% เป็นรายได้ที่กระจุกตัวอยู่ที่ธุรกิจรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำอย่างไรให้ประเทศมีธุรกิจเกิดใหม่ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และเติบโตสูง การส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐ-ภาคเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมด้วยกลไก Holding Company จะช่วยขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจฐานนวัตกรรมหรือ IDE (Innovation Driven Enterprise) ที่มีศักยภาพในการสร้างรายได้และการเติบโตสูงให้กับประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยกลไก Holding Company เสมือนเป็นการสร้าง Ecosystem ที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างธุรกิจนวัตกรรมของภาครัฐร่วมกับภาคเอกชน ซึ่งที่ผ่านมามีมหาวิทยาลัยที่ดำเนินการแล้ว อาทิ CU Enterprise ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บจก.อ่างแก้ว โฮลดิ้ง ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บริษัทนววิวรรธ จำกัด ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และ TUIP ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีหลายมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่สนใจดำเนินการจัดตั้ง แต่ยังมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับอำนาจและขั้นตอนการจัดตั้ง Holding Company ตลอดจนสถานะและการดำเนินของกิจกรรมการร่วมลงทุน ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ เช่น มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย จัดตั้ง Holding Company ได้หรือไม่ สถานภาพของ Holding Company ที่มหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยของรัฐจัดตั้ง เป็นต้น เพื่อสร้างความชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว สอวช. จะดำเนินการสร้างความเข้าใจด้านกฎหมาย/ระเบียบ ที่เกี่ยวข้อง และจัดทำแนวทางปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน ตลอดจนจัดทำระเบียบร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ตามพ.ร.บ. การส่งเสริม ววน. มาตรา 31 พร้อมจัดทำรายละเอียดของมาตรการส่งเสริมการดำเนินงานของ Holding Company
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายและเห็นตรงกันว่ากลไก Holding Company จะช่วยสร้างให้เกิดธุรกิจฐานนวัตกรรมที่มีจุดแข็งจากการนำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย มาผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจของภาคเอกชน แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยการจัดตั้งมีรายละเอียดค่อนข้างมาก ผนวกับความกังวลของหน่วยงานที่ยังไม่มีประสบการณ์ในการจัดตั้ง จึงการอยากให้มีการจัดทำรวบรวมข้อมูลที่เป็นแนวทางปฏิบัติที่สามารถทำได้จริงและมีความชอบธรรมมากกว่าการจัดทำเป็นข้อบังคับ ซึ่งข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ จะถูกรวบรวมเสนอต่อคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบ เพื่อนำไปจัดทำมาตรการผลักดันการส่งเสริมการร่วมลงทุนรัฐและเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก Holding Company ที่เหมาะสมต่อไป