messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. – มจธ. ปลื้มผลผลิต 48 บัณฑิตนักออกแบบนโยบาย สำเร็จหลักสูตรรุ่น 2 พร้อมผลิตต่อเนื่องรุ่น 3 ต้นปีหน้า เล็งบรรจุเป็นหลักสูตร Non Degree ที่สามารถสะสมเพื่อขอรับปริญญาได้ สร้างแรงจูงให้คนให้เห็นความสำคัญนโยบาย เชื่อสามารถสร้างบุคลากรขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต

สอวช. – มจธ. ปลื้มผลผลิต 48 บัณฑิตนักออกแบบนโยบาย สำเร็จหลักสูตรรุ่น 2 พร้อมผลิตต่อเนื่องรุ่น 3 ต้นปีหน้า เล็งบรรจุเป็นหลักสูตร Non Degree ที่สามารถสะสมเพื่อขอรับปริญญาได้ สร้างแรงจูงให้คนให้เห็นความสำคัญนโยบาย เชื่อสามารถสร้างบุคลากรขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้ในอนาคต

วันที่เผยแพร่ 26 พฤศจิกายน 2020 560 Views

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับ สถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (STIPI) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดพิธีปิดหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม รุ่นที่ 2 หรือ STIP02 พร้อมมอบประกาศนียบัตรและรางวัลในการประกวดข้อเสนอเชิงนโยบาย

โดยหลักสูตร STIP รุ่น 2 ใช้เวลาในการอบรมทั้งสิ้น 5 เดือน ซึ่งเป็นรุ่นที่ต้องมีการปรับตัวในการอบรมทั้งการอบรมในห้องเรียนและผ่านทางออนไลน์เนื่องจากอยู่ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด – 19 โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในระดับประเทศ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ รมว.กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สอวช. ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน อดีตอธิการบดี มจธ. คุณกานต์ ตระกูนฮุน ศ.ดร. นักสิทธ์ คูวัฒนาชัย ที่ปรึกษา สอวช. ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.  ฯลฯ มาให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดทำนโยบายตลอดระยะเวลาการอบรม รวมถึงได้มีการจัดเวทีนำเสนอข้อเสนอนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำหรับหลักสูตรการออกแบบนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม  มีเนื้อหาหลักสูตรที่เน้นถึงการสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้และความสามารถในการออกแบบและจัดทำนโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) รวมถึงการสร้างเครือข่ายของนักพัฒนานโยบาย อววน. ให้กับประเทศ

ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ นายกสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มีหลักสูตรนี้ขึ้นมาในประเทศไทย และจัดต่อเนื่องมาแล้วถึง 2 รุ่น และคาดว่าจะมีรุ่นต่อ ๆ ไปอีก โดยส่วนตัวมองว่าหลักสูตรในลักษณะนี้ควรจะมีนานแล้ว ต้องขอบคุณ สอวช. และ มจธ. ที่ทำให้ทุกอย่างเป็นจริงและสำเร็จอย่างดี เพราะเป็นหลักสูตรที่สำคัญมาก และขอแสดงความยินดีกับบัณฑิต Non degree ด้านการออกแบบนโยบายทุกคน ที่ได้ทำเรื่องที่สำคัญในระดับชาติ  

ดร.สันติ เจริญพรพัฒนา ผู้อำนวยการ STIPI กล่าวว่า จากความสำเร็จในการผลิตบัณฑิตนักออกแบบนโยบาย ทั้ง 2 รุ่น โดยรุ่นแรกมีผู้จบหลักสูตร 28 คน และรุ่นที่ 2 มีผู้จบหลักสูตร 48 คน รวมทั้งสิ้น 76 คน และกำลังจะเปิดรุ่นที่ 3 ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ซึ่งกำหนดไว้ว่าจะรับผู้เข้าอบรมจำนวน 40 คน และเชื่อว่าหลักสูตรนี้ จะสามารถบ่มเพาะให้ผู้ที่สำเร็จหลักสูตร มีความรู้ ความเข้าใจและสามารถนำนโยบายไปพัฒนาประเทศต่อไปได้

ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาการอบรมหลักสูตร ผู้เข้ารับการอบรมได้รับการบ่มเพาะความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการทำนโยบายว่าเราจะมีเครื่องมือและประเด็นสำคัญอะไรบ้างที่จะต้องคำนึงถึงในการสร้างสรรค์และออกแบบนโยบาย ซึ่งจะทำให้เราเก่งและมีประสบการณ์มากขึ้น อย่างไรก็ตามได้หารือกับ ผอ.สอวช. เบื้องต้นว่าน่าจะมีการออกแบบหลักสูตรให้เป็นหนึ่งในหลักสูตร Non Degree ที่สามารถสะสมเพื่อขอรับปริญญาได้ เพราะเป็นหลักสูตรที่มีความสำคัญที่จะสามารถสร้างและพัฒนาบุคลากรให้ประเทศ อีกทั้งเพื่อสร้างแรงจูงใจให้บุคลากรรุ่นใหม่ มองเห็นความสำคัญของการจัดทำนโยบาย

สอดคล้องกับ ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผอ.สอวช. ที่มองว่าการนำหลักสูตร STIP บรรจุเป็นหลักสูตร Non Degree และสามารถเป็นหนึ่งในหลักสูตรเพื่อสะสมและขอรับปริญญาได้นั้นเป็นเรื่องสำคัญ เนื่องจากเป็นการสร้างทักษะให้กับบุคลากรตั้งแต่การออกแบบนโยบาย และเชื่อว่าจะสามารถสร้างและพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่มีความรู้ ความสามารถในการขับเคลื่อนประเทศได้

นอกจากนี้ ยังได้มีการประกาศรางวัลข้อเสนอนโยบายยอดเยี่ยม โดยรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ข้อเสนอนโยบาย “คุณภาพเด็กและเยาวชนสำหรับสังคมรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่ 21” ซึ่งเป็นข้อเสนอนโยบายที่นำเสนอสถานการณ์ที่ประเทศไทยกําลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ส่งผลให้วัยแรงงานต้องทํางานหนักมากขึ้น ทำงานที่มีทักษะมากขึ้น สร้างผลผลิตต่อชั่วโมงได้สูงขึ้น เพื่อรองรับจํานวน (เด็กและผู้สูงอายุ) ที่มีมากขึ้น ดังนั้น เด็กและเยาวชนในยุคนี้จึงจำเป็นที่จะต้องเติบโตมามีความรู้ ความสามารถ และทักษะที่ดีและจำเป็น รวมถึงต้องเหมาะสมต่อสังคมในศตวรรษที่ 21 และอนาคตต่อไปด้วย

โดยงานวิจัย รายงานว่าการสร้างเด็กและเยาวชนใน “ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21” จำเป็นต้องมีทักษะต่างๆ ใน 3 กลุ่มใหญ่ คือ

1) Foundational Literacies ทักษะพื้นฐานที่สามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน

2) Competencies ทักษะที่สามารถจัดการกับความท้าทายต่างๆ ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

3) Character Qualities ทักษะที่สามารถจัดการกับสภาพแวดล้อมรอบตัวที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้

และได้จัดทำข้อเสนอนโยบายในการแก้ไขปัญหาของสังคมไทยในปัจจุบัน และนำไปสู่เป้าหมาย “เด็กและเยาวชนไทยที่มีคุณภาพในศตวรรษที่ 21” แบ่งกลุ่มออกเป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

1) นโยบายเสริมเกราะสำหรับกลุ่มเด็กและเยาวชนไทยที่ยังไม่มีความพร้อมในการเสริมสร้างให้กลายเป็นเยาวชนในศตวรรษที่ 21 ได้ทันที

1.1 นโยบายสร้างความพร้อมทางร่างกายและจิตใจของเด็กไทย : การสร้างนักโภชนาการในโรงเรียนพร้อมกับระบบที่ใช้งานสำหรับการเตรียมโภชนาการที่สมบูรณ์

1.2 ศูนย์เลี้ยงเด็กจากอาสาผู้สูงวัย

1.3 สร้างจิตอาสาด้วยสลากทำดี

2) นโยบายติดปีกสำหรับเด็กและเยาวชนไทยมีความพร้อมที่จะก้าวไปสู่ศตวรรษที่ 21

2.1 Experience Education : โรงเรียนสอนประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น หรือเรียกว่า Experience Education ผ่านโปรแกรม Simulator

2.2 จัดตั้ง PBL Education Center

2.3 การสนับสนุนธุรกิจเพื่อสังคมสำหรับเด็กรุ่นใหม่ : โรงเรียนนำร่องกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise School)

3) นโยบายหลังโควิด-19 เป็นนโยบายที่ทีมวิจัยศึกษาและออกแบบมาจากปัญหาที่พบในช่วงที่ประเทศไทยเกิดสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19

3.1 ปฏิรูประบบดิจิทัลเพื่อการศึกษา

3.2 โรงเรียนคุณภาพคือโรงเรียนใกล้บ้าน : การสนับสนุนให้พัฒนาโรงเรียนเล็กเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพด้วยการอุดหนุนงบประมาณจากภาครัฐ

4) นโยบายเฉพาะสำหรับ 6 วิชาชีพ เป็นการวิจัยในเชิงลึกของแต่ละอาชีพว่าควรมีความโดดเด่นของทักษะหรือความรู้ด้านใดบ้างเพื่อนำมาออกแบบนโยบายเฉพาะทางของแต่ละอาชีพ

4.1 อาชีพผู้ประกอบการ : เตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนในการพัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการที่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

4.2 อาชีพ Smart Farmer : Education from Farm to E-Farm

4.3 อาชีพวิศวกร : การขยายห้องปฏิบัติการ STEM Lab/Fabrication Lab ทั่วประเทศ

4.4 อาชีพ Blogger : ส่งเสริมบล็อกเกอร์รุ่นเยาว์ด้วยโปรแกรม Young Blogger Academy

4.5 อาชีพแพทย์ : การปั้น แพทย์นวัตกร :รุ่นเยาว์

4.6 อาชีพนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล : สร้างเยาวชนให้มีความตระหนักรู้และสนใจในอาชีพด้าน ICT และ Digital ที่หลากหลาย

Tags:

เรื่องล่าสุด