(18 พฤศจิกายน 2563) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานและร่วมเสวนาช่วง ASEAN Bioeconomy Policy Sharing & Bioeconomy Network session ในงานวิชาการระดับนานาชาติ The ASEAN Innovation Roadmap & Bioeconomy Forum in Conjunction with GBS2020 โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ อาทิ สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐอินโดนีเซีย มาเลเซีย และสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ ร่วมเสวนา และมี ดร.กาญจนา วานิชกร รองผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ในเวทีเสวนาดังกล่าว ดร. กิติพงค์ ได้กล่าวถึงประเด็น BCG Economy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy) ซึ่งเป็นการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมไปยกระดับความสามารถในการแข่งขันอย่างยั่งยืนให้กับ 4 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curves) ได้แก่ อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร อุตสาหกรรมพลังงานและวัสดุ อุตสาหกรรมสุขภาพและการแพทย์ และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ โดยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จะเข้าไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับผู้ผลิตที่เป็นฐานการผลิตเดิม เช่น เกษตรกรและชุมชน ตลอดจนสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูงหรือนวัตกรรม
นอกจากนี้ ยังได้แลกเปลี่ยนถึง สถานการณ์ปัจจุบันของอุตสาหกรรมชีวภาพของประเทศไทย ทั้งในแง่การสร้างมูลค่า ปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรค รวมถึงการพัฒนาเชิงพื้นที่ BCG (BCG Area-based Development) ซึ่งจะสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึงด้วยการเชื่อมโยงและมุ่งเน้นการพัฒนาความสามารถในระดับภูมิภาคควบคู่ไปด้วยกัน รวมถึงได้แลกเปลี่ยนถึงกลไกสนับสนุนจากภาครัฐทั้งด้านมาตรการทางภาษี ทุนสนับสนุน ความช่วยเหลือทางด้านการพัฒนาศักยภาพด้านกำลังคนและด้านการตลาด ตลอดจนการลงทุนจากภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน และสิ่งอำนวยความสะดวกที่สนับสนุนอุตสาหกรรมชีวภาพ อาทิ Thailand Science Park, EECi และ Food Innopolis เป็นต้น จากนั้น ดร. กิติพงค์ ได้ยกเรื่องความต้องการกำลังคนด้าน BCG ซึ่งต้องพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG รวมทั้งการลงทุนด้าน BCG ของภาคเอกชน เช่น นครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ อย่างไรก็ตาม การเชื่อมโยงเครือข่ายต่างประเทศเป็นปัจจัยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG โดย ดร. กิติพงค์ ได้นำเสนอแนวทางความร่วมมือระหว่างอาเซียนในด้านต่าง ๆ อาทิ การแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน การส่งเสริมนวัตกรรมด้านใหม่ หรือ Innovation Sandbox และการร่วมทุนในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น
ทั้งนี้ ผู้ร่วมเสวนาเห็นชอบร่วมกันในการสนับสนุนการจัดตั้ง ASEAN BCG Network ซึ่งประเทศไทยได้เสนอเป็นข้อริเริ่มใหม่ต่อคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของอาเซียน (Committee on Science, Technology and Innovation: COSTI) เพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและนวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการพัฒนาบุคลากร เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของอาเซียน โดยผู้ร่วมเสวนาจากประเทศต่างๆ ได้เสนอโครงการนำร่อง เช่น Blue Economy & Marine Science เสนอโดยฟิลิปปินส์ Synthetic Biology โดยสิงคโปร์ Joint Scholarship & Research Fellowship โดยมาเลเซีย Smart Farming โดยอินโดนิเซีย เป็นต้น
นอกจากนี้ ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ได้เข้าร่วมอภิปราย ผ่านระบบออนไลน์ ในหัวข้อ Investing in Bioeconomy ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากภาครัฐและเอกชนนานาประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร สาธารณรัฐอาร์เจนตินา และสหรัฐอเมริกา โดยร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ในประเทศไทย รวมทั้งมุมมองความคิดเห็นต่อผลสำรวจเรื่องภาคส่วนใดเป็นผู้รับผิดชอบในการผลักดันเศรษฐกิจชีวภาพ