สอวช.ถอดบทวิเคราะห์ Bloomberg Innovation Index 2021 จากผลการจัดอันดับประเทศที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรม เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมสูงขึ้น 4 อันดับ ปรับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 36 ของโลก (อันดับ 6 ของเอเชีย) เป็นผลมาจากความเข็มแข็งในสัดส่วนการลงทุนด้านการวิจัยและการพัฒนา (Research and Development : R&D) ต่อ GDP ของประเทศ รวมถึงจำนวนบุคลากรด้าน R&D ที่เพิ่มมากขึ้น
ส่วนประเทศที่เป็นอันดับ 1 ของโลกในปีนี้คือประเทศเกาหลีใต้ ขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 2 ในปี 2020 จากปริมาณกิจกรรมด้านสิทธิบัตร การลงทุนด้าน R&D และมูลค่าเพิ่มจากอุตสาหกรรมการผลิต
สวนทางกับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านนวัตกรรมของสหรัฐอเมริกาและจีนที่เริ่มแคบลง โดยเฉพาะในปี 2021 มีปัจจัยมาจากมาตรการของรัฐบาลอดีตประธานาธิบดี ดอนัลด์ ทรัมป์ ที่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการเคลื่อนย้ายนักศึกษาต่างชาติเข้าสู่สถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐฯ รวมถึงการระบาดของโควิด-19 ทำให้ความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และวิศวกรรมศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐฯ ลดลง การจัดอันดับในปีนี้ของสหรัฐฯ จึงปรับลดลงจากปีที่แล้ว 2 อันดับ หลุดจาก 10 อันดับแรกมาอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก
สำหรับประเทศจีน มีปัจจัยในทางบวกคือแนวโน้มในการพัฒนา R&D ที่เพิ่มสูงขึ้น จากความได้เปรียบทางด้านต้นทุนแรงงานที่ต่ำกว่าในหลายประเทศ อีกทั้งในปีที่ผ่านมาประเทศจีนมีการฟื้นตัวจากการระบาดของโควิด-19 ได้เร็วกว่าประเทศอื่น แต่ในขณะเดียวกันปัจจัยในทางลบคือการสร้างมูลค่าเพิ่มด้านอุตสาหกรรมการผลิตที่ลดลงจากเดิม ทำให้การจัดอันดับของประเทศจีนตกลงจากปี 2020 มา 1 อันดับ อยู่ในอันดับที่ 16 ของโลกในปี 2021
ที่มา : Bloomberg Innovation Index 2021