messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ชวนรู้จัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หนึ่งในโมเดลสำคัญขับเคลื่อน BCG Economy พร้อมถอดบทเรียนกับตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีใน 3 ประเทศที่ประสบความสำเร็จ

สอวช. ชวนรู้จัก “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หนึ่งในโมเดลสำคัญขับเคลื่อน BCG Economy พร้อมถอดบทเรียนกับตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีใน 3 ประเทศที่ประสบความสำเร็จ

วันที่เผยแพร่ 1 มีนาคม 2021 2660 Views

ตามที่ BCG Economy Model ถูกยกให้เป็นวาระแห่งชาติ สิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญคือการทำความเข้าใจโครงสร้างของโมเดลนี้ให้มากขึ้น เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่จะนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคต

(ร่าง) สมุดปกขาว การพัฒนาระบบเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน: โปรแกรมปักหมุดเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมธุรกิจและเทคโนโลยี ที่จัดทำโดย สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สอวช.) ให้นิยาม เศรษฐกิจหมุนเวียน คือ ระบบเศรษฐกิจที่มีการวางแผนให้ทรัพยากรในระบบการผลิตทั้งหมดสามารถกลับคืนสู่สภาพเดิมและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนทรัพยากรในอนาคต ที่จะมีความต้องการใช้ทรัพยากรเพื่อการผลิตเพิ่มมากขึ้นจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภค ดังนั้น เศรษฐกิจหมุนเวียน จึงมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรใหม่ (Virgin material) ให้น้อยที่สุด การคงคุณค่าผลิตภัณฑ์ให้นานที่สุด การเปลี่ยนรูปแบบการใช้งานผ่านโมเดลธุรกิจใหม่ การสร้างของเสียในปริมาณที่ต่ำที่สุดและให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Secondary raw material) เช่น การเปลี่ยนของเหลือทิ้ง ให้เป็นสารมูลค่าเพิ่มสูง การใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของระบบกำจัดขยะต้นทาง กลางทาง และปลายทาง การส่งเสริมอุตสาหกรรมรีไซเคิลวัสดุที่สำคัญ การส่งเสริมการออกแบบผลิตภัณฑ์และรูปแบบธุรกิจที่เอื้อต่อระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความสมดุลในการดึงทรัพยากรธรรมชาติมาใช้งานใหม่ ควบคู่ไปกับการสร้างระบบและการออกแบบที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบภายนอก (externalities) เชิงลบ สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในการสร้างระบบเศรษฐกิจแบบนี้ คือ การออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์ ระบบ และโมเดลทางธุรกิจใหม่ที่ต้องคิดไม่เหมือนเดิมเพื่อสร้างนวัตกรรม

และก่อนที่ประเทศไทยจะนำแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ สอวช.  ได้ถอดบทเรียนโดยการนำตัวอย่างแนวปฏิบัติที่ดีของประเทศที่นำหลักการนี้ไปใช้แล้วมาฝากกัน

ประเทศแรก คือ เนเธอแลนด์ ที่เห็นความสำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนใน 2 ประเด็น ได้แก่

1. ความจำเป็นเนื่องจากการพึ่งพาวัตถุดิบจากประเทศอื่นๆ ในขณะที่ความต้องการวัตถุดิบต่างๆ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

2. โอกาสทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินนโยบายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

เนเธอร์แลนด์ได้เริ่มศึกษานโยบายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนตั้งแต่ปี 2556 และพบว่าระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนจะช่วยสร้างงาน 54,000 ตำแหน่ง และสร้างรายได้ 7,300 ล้านยูโร รวมทั้งสร้างโอกาสให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศในการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน จากองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ต่อมาในปี 2559 คณะรัฐมนตรีของเนเธอแลนด์ได้ประกาศนโยบายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนโดยกำหนดเป้าหมายแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกตั้งเป้าลดปริมาณการใช้วัตถุดิบขั้นต้นให้ได้ร้อยละ 50 ในปี 2573 และในระยะยาวตั้งเป้าให้เกิดการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพโดยไม่มีการปล่อยสารที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้ในปี 2593

โดยคณะรัฐมนตรีเนเธอแลนด์ได้จัดทำแผนการดำเนินงานที่สำคัญในช่วง 2559 – 2563 เพื่อกำหนดบทบาทของรัฐบาลในการเตรียมความพร้อมเพื่อผลักดันนโยบายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนใน 5 ด้าน ดังนี้

ด้านกฎหมาย (Fostering registration and regulations) ปรับปรุงกฎหมายที่เป็นอุปสรรค์ต่อการดำเนินนโยบายระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนออก พัฒนากฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดการคิดค้นเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ

ด้านสร้างแรงจูงใจให้ตลาด (Intelligent market incentives) กระตุ้นให้เกิดตลาดที่สอดรับกับทิศทางของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่านกลไกด้านราคา และการออกระเบียบ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความต้องการในวัสดุชีวภาพ หรือสินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้

ด้านการจัดหาเงินทุน (Financing) สำหรับการศึกษา วิจัย สร้างองค์ความรู้ และการศึกษาความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้เกิดรูปแบบธุรกิจแบบหมุนเวียน

ด้านองค์ความรู้ และนวัตกรรม (Knowledge and Innovation) ให้ข้อมูลแก่ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในสังคม โดยพัฒนาองค์ความรู้ และการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จำเป็นต่อเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ (International Cooperation) ทำงานร่วมกับนานาชาติในการผลักดันนโยบาย และกฎหมายต่างๆ ที่สร้างเงื่อนไขด้านระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมเศรษฐกิจหมุนเวียน รัฐบาลเนเธอแลนด์ยังได้กำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ออกเป็น 3 ระยะ โดยให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ในแต่ละอุตสาหกรรมกำหนดเองว่าตนเองอยู่เฟสใดและจะมีแนวทางในการเปลี่ยนผ่าน (transition agenda) ที่เหมาะสมอย่างไร ดังนี้การใช้แบบเส้นตรง (Linear) ใช้วัตถุดิบตลอดห่วงโซ่อุปทาน แต่ใช้อย่างคุ้มค่า หรือใช้ให้น้อยลง การนำกลับมาใช้ใหม่ (Reuse) ถ้าจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบใหม่ ให้เลือกใช้วัตถุดิบที่ก่อให้เกิดความยั่งยืน นำกลับมาใช้ใหม่ได้ การใช้แบบหมุนเวียน (Circular) สนับสนุนการพัฒนาวิธีการการผลิต การออกแบบผลิตภัณฑ์ตลอดจนการบริโภครูปแบบใหม่ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนของการใช้วัตถุดิบ โดยอุตสาหกรรมหลักที่ตั้งเป้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมาสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนในช่วงแรก ประกอบด้วย 5 อุตสาหกรรม ได้แก่ (1) ชีวมวลและอาหาร (2) พลาสติก (3) อุตสหกรรมการผลิต (4) ภาคการก่อสร้าง (5) สินค้าอุปโภคบริโภค

อีกหนึ่งประเทศที่นำโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในประเทศแล้ว คือ ฟินแลนด์ โดยมีเป้าหมายจะเป็นผู้นำโลกด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในปี 2568 และต้องการเป็นประเทศต้นแบบด้านการบริหารจัดการความท้าทายด้านการขาดแคลนวัตถุดิบ รวมถึงต้องการสร้างการเติบโตและโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยมุ่งส่งเสริมการส่งออกสินค้าหรือบริการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนออกไปยังตลาดโลก

กลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านเชิงระบบที่สำคัญ 2 กลยุทธ์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายข้างต้น คือ

1. สร้างตลาดสำหรับสินค้าและบริการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนขึ้นภายในประเทศ เพื่อให้ผู้ประกอบการใช้เป็นแพลตฟอร์มการทดสอบสินค้าหรือบริการของตนเพื่อพัฒนาไปสู่การส่งออก

2. การทำเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกระแสหลักของโลก ผ่านการจัดกิจกรรมขนาดใหญ่หรือการก่อตั้งเวทีระดับนานาชาติในเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน

โดยฟินแลนด์ได้ระบุ 5 ด้านสำคัญที่ต้องการมุ่งเน้น คือ 1) ระบบอาหารที่ยั่งยืน 2) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมป่าไม้ 3) กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการผลิต 4) การขนส่งและโลจิสติกส์ 5) กิจกรรมสนับสนุนต่างๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เอื้อให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนหรือกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ

การขับเคลื่อนแบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ

1. ระดับนโยบาย เช่น การปรับปรุงกฎระเบียบ แรงจูงใจกระบวนการทำงานร่วมกัน หรือข้อริเริ่มในระดับนโยบาย

2. ระดับโครงการสำคัญ เน้นคัดเลือกโครงการที่มีผลโดยตรงและชัดเจนทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านใน Focus area นั้น ๆ ซึ่งเป็นโครงการที่มีความพร้อมเริ่มดำเนินการหรือดำเนินการอยู่แล้ว

3. ระดับโครงการนำร่อง คือโครงการที่อยู่ในขั้นเริ่มต้นของการพัฒนาและเตรียมความพร้อมสู่การขยายผล โดยฟินแลนด์ต้องการเร่งกระจายโครงการนำร่องให้มีการดำเนินงานอย่างรวดเร็ว เป็นเครื่องมือในการส่งต่อแนวปฏิบัติและนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับโครงการ กระตุ้นให้เกิดการแพร่หลายของกิจกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน

ทั้งประเทศเนเธอแลนด์ และประเทศฟินแลนด์ ต่างเป็นประเทศที่อยู่ในทวีปยุโรป แต่ขณะเดียวกันในทวีปเอเชียก็มีประเทศที่นำเอาโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียนไปใช้แล้วเช่นกัน นั่นคือ ประเทศญี่ปุ่น

ที่ญี่ปุ่นมีการตั้งคณะทำงาน Circular Economy Vision ภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry : METI) มีตัวแทนจากภาคเอกชน และมหาวิทยาลัย เป็นองค์ประกอบหลัก มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจหมุนเวียน รวมถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลง ความท้าทายต่างๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียนของประเทศ

จากผลการศึกษาของคณะทำงาน พบว่า ประเทศญี่ปุ่นมีการสนับสนุน 3R (Reduce Reuse Recycle) มาตั้งแต่ปี 2542 จึงทำให้มีความเข้มแข็งในด้านนี้เป็นทุนเดิม อย่างไรก็ตาม 3R ในอดีต จะเน้นด้านการลดปริมาณการปล่อยของเสียที่เกิดจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ปัจจุบันควรต่อยอดด้วยการใช้ 3R เป็นฐานในการช่วยเพิ่มมูลค่าและลดปริมาณการใช้วัตถุดิบ โดยการออกแบบให้มีความสอดคล้องกันตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต นำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากร และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศในเวทีโลก

จากรายงาน Circular Economy Vision 2020 ระบุทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียนของญี่ปุ่นไว้ 3 แนวทาง ได้แก่

1. ปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้คำนึงถึงหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมากขึ้น โดยให้ธุรกิจต้นน้ำเน้นการออกแบบให้เหมาะสมตลอดทั้งวงจรชีวิต ส่วนธุรกิจปลายน้ำให้เปลี่ยนรูปแบบจากการ recycle มาเป็น resourcing นำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาแปรเป็นวัสดุคุณภาพสูงเพื่อป้อนอุตสาหกรรมต้นน้ำได้

2. สร้างการยอมรับจากตลาดและสังคม โดยการเผยแพร่ข้อมูลระดับบริษัทซึ่งดำเนินธุรกิจบนหลักการที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อให้ได้รับการยอมรับและดึงดูดนักลงทุน และสร้างการยอมรับจากผู้บริโภค

3. เร่งสร้างระบบหมุนเวียนที่มีความยืดหยุ่นทั้งในและต่างประเทศ โดยได้ระบุอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญและควรริเริ่มก่อนได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก เส้นใย คาร์บอนไฟเบอร์ (CFRP) แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์เซลล์

ข้อมูลจาก : (ร่าง) สมุดปกขาว การพัฒนาระบบเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน: โปรแกรมปักหมุดเพื่อขับเคลื่อนนวัตกรรมธุรกิจและเทคโนโลยี

สามารถอ่าน (ร่าง) ฉบับเต็มได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/report/6724/

Tags:

เรื่องล่าสุด