messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » บพท.ให้ทุน มรภ.ศรีสะเกษ เอ็กซเรย์คนจนที่สุดในจังหวัดกว่า 16,000 ครัวเรือน เพื่อวางแผนช่วยเหลือแบบแม่นยำ ไม่ซ้ำซ้อน หวังเป็นบิ๊กดาต้าของประเทศ

บพท.ให้ทุน มรภ.ศรีสะเกษ เอ็กซเรย์คนจนที่สุดในจังหวัดกว่า 16,000 ครัวเรือน เพื่อวางแผนช่วยเหลือแบบแม่นยำ ไม่ซ้ำซ้อน หวังเป็นบิ๊กดาต้าของประเทศ

วันที่เผยแพร่ 23 มีนาคม 2021 441 Views

หน่วยบริหารและจัดการทุนเพื่อพัฒนาพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สนับสนุนงบประมาณให้กับ มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีษะเกษ จัดทำโครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลคนจน โดยได้ทำการศึกษาข้อมูลครัวเรือนคนจนกลุ่มที่จนที่สุด 20% จำนวน 16,484 ครัวเรือน จากข้อมูลความสูง-ต่ำของทุนเพื่อการดำรงชีพ 5 ด้าน คือ 1.ทุนมนุษย์ (สมาชิกในครัวเรือน สุขภาพ การศึกษา อาชีพ สวัสดิการ)  2. ทุนกายภาพ (ที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐาน) 3.ทุนทรัพยากรธรรมชาติ (ที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ ฯลฯ) 4. ทุนการเงิน (รายได้ รายจ่าย หนี้สิน)  และ 5. ทุนทางสังคม (กลุ่มองค์กร การช่วยเหลือกันในชุมชน ฯลฯ)

ทั้งนี้ ภายหลังจากดำเนินการได้ 9 เดือน มรภ.ศรีสะเกษ ได้จัดทำ (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบาย ยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จแม่นยำ กรณีจังหวัดศรีษะเกษเสนอต่อที่ประชุมภาคีความร่วมมือระดับจังหวัด เพื่อขับเคลื่อนจังหวัดศรีษะเกษภายใต้ Agenda “ฮักแพง แบ่งปัน” ของจังหวัดศรีษะเกษที่มีประเด็นสำคัญ เรื่องความยากจน ในการพิจารณาช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาที่เดือดร้อน ทุกข์ยาก ขาดโอกาส โดยการบูรณาการความร่วมมือภาคีเครือข่ายทางสังคมในการแก้ไขปัญหา ลดความซ้ำซ้อนในการให้ความช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนจังหวัดศรีสะเกษมีคุณภาพชีวิตที่ดี

จากการศึกษาทุน 5 ด้านเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลทุนครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดแล้วได้กำหนดพื้นที่นำร่อง ใน 3 อำเภอ 3 ตำบล ดังนี้ 1. ตำบลหนองแค อำเภอราษีไศล พื้นที่นิเวศลุ่มน้ำ ครัวเรือนคนจนเป้าหมาย 155 ครัวเรือน 2. ตำบลหนองครก อำเภอเมือง พื้นที่นิเวศกึ่ง เมือง กึ่งชนบท ครัวเรือนคนจนเป้าหมาย 338 ครัวเรือน และ 3.ตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษณ์ พื้นที่นิเวศเมืองชายแดน ครัวเรือนคนจนเป้าหมาย 411 ครัวเรือน

นายวิชัย ตั้งคำเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า การทำงานระบบข้อมูลของมรภ.ศรีสะเกษ ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบการทำงานแก้ไขปัญหาของจังหวัดศรีสะเกษโดย ปัญหาของผู้ด้อยโอกาส เป็น 1 ใน 10 agenda ของศรีสะเกษ ซึ่งกำลังขับเคลื่อนดำเนินการภายใต้นโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัด การทำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยราชภัฏ มีความสอดคล้องกับการแก้ปัญหาผู้ด้อยโอกาส จึงบูรณาการร่วมกันได้   โดยตั้งเป็นเรื่องหลักๆ ว่าจะต้องช่วยอย่างน้อย 5 เรื่อง ให้คนด้อยโอกาส มีครบ พอเพียง ช่วยให้ปัญหาเขาทุเลาเบาบาง สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุขพอสมควร

ได้แก่ 1.เรื่องการมีกิน  “คนศรีสะเกษต้องไม่อดตาย” คนศรีสะเกษต้องมีกิน 2. เรื่องที่อยู่อาศัย ซอมซ่อ ฝนตก หลังคารั่ว ไม่มีห้องส้วม มีเงินโครงการ 238 ปี (ศรีสะเกษ) กับงบของ พม. เงินของกาชาด มาช่วยสร้างซ่อมบ้าน 3.เรื่องรายได้ คนแก่เฒ่า ไม่สบาย จะเงินที่รัฐช่วยอยู่ แต่ถ้ามีแรง มีกำลัง ก็จะส่งเสริม ฝึกอาชีพ เพื่อให้มีรายได้ประทังชีวิต 4.เรื่องของสุขภาพ เรื่องการเจ็บป่วย พิการต้องมีการดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับ และ 5. เรื่องการเข้าถึงบริการภาครัฐ ต้องช่วยให้คนที่ไม่เข้มแข็งให้สามารถเข้าถึงบริการของตำบลบึงมะลู อำเภอกันทรลักษณ์ มีโมเดลการช่วยเหลือคนไม่มีชื่อในทะเบียนบ้าน (ตกหล่น) หรือมีชื่อในทะเบียนบ้านแล้ว แต่ยังเข้าถึงสวัสดิการไม่ได้ เพราะป่วย ชรา และไม่มีมือถือ ทั้งนี้ ข้อมูลจากการสำรวจ อำเภอจะใช้วางแผนร่วมกับส่วนราชการ เทศบาล อบต. หาทางช่วยเหลือประชาชน โดยทางจังหวัด อำเภอ ภาคส่วนราชการ ท้องที่-ท้องถิ่น จะได้ขับเคลื่อนร่วมกัน

รองผู้ว่าฯ ศรีสะเกษ กล่าวว่า เมื่อสำรวจแล้ว จะมีข้อมูลขนาดใหญ่ คือ มีข้อมูลทั้งจังหวัด โดยมรภ.ศรีสะเกษ จะช่วยสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือบิ๊กดาต้าขึ้นมา แล้วเอาข้อมูลมาสังเคราะห์ ทำเป็นข้อมูลรายย่อย รายครัวเรือน เก็บอยู่ในระบบฐานข้อมูล ที่ใช้ค้นหาผู้ด้อยโอกาสกลุ่มต่างๆ ช่วยในการวางแผนการแก้ไขปัญหาหรือจัดทำโครงการต่างๆ ได้ และช่วยให้ไม่เกิดความซ้ำซ้อน เพราะข้อมูลนี้จะเป็นข้อมูลกลาง ทุกภาคส่วนสามารถเข้าถึงในระดับหนึ่ง และเมื่อส่วนไหนเข้าไปช่วยเหลือแล้ว ก็จะต้องรายงานเข้ามาด้วย เพื่ออัปเดทให้ได้รับรู้ว่า ครอบครัวผู้ด้อยโอกาสแต่ละครอบครัวมีหน่วยไหนเข้ามาช่วยเหลือแล้วบ้าง ในเรื่องอะไร เกิดการบูรณาการ เกื้อกูล การทำงานซึ่งกันและกันไม่ซ้ำซ้อน

“นี่คือบิ๊กดาต้าข้อมูลกลาง ที่จังหวัดและทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ในการค้นหาปัญหาต่างๆ ของชุมชน และนำมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เพื่อจะวางแผนในการแก้ไขปัญหาต่อไป  เป้าหมาย คือ พี่น้องประชาชนผู้ด้อยโอกาส ที่สอดคล้องกับการทำวิจัยของ มรภ.ศรีสะเกษ เนื้อหาสาระใกล้เคียงกัน เราจึงมาบูรณาการในเรื่องของการขับเคลื่อนเรื่องของข้อมูลร่วมกัน” นายวิชัย กล่าว

ทั้งนี้ ทีมวิจัยมรภ.ศรีสะเกษ ได้พัฒนาเป็นร่าง ข้อเสนอเชิงนโยบายยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จแม่นยำ 5 เรื่อง ได้แก่ 1. การประสานความคิด ระบบฐานข้อมูล และแผนงาน โดยหลอมความคิด สู่การแก้ไขปัญหาความยากจนในระดับครัวเรือนและระดับชุมชน 2. การเรียนรู้ของชุมชน ผ่านกระบวนการจัดทำข้อมูลครัวเรือนและชุมชน 3.การพัฒนาระบบเศรษฐกิจชุมชน เชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจชุมชนกับการจัดการการผลิต การบริโภค และการแลกเปลี่ยน การเชื่อมโยงกับตลาด ทั้งภายในและภายนอกชุมชน 4. การพัฒนานโยบายและกระจายความรู้สู่สังคม วิเคราะห์ชุมชนโดยกระบวนการ Village Profile และ ข้อมูลรายครัวเรือน เพื่อนำสู่การร่างแผนแม่บทชุมชน แผนเศรษฐกิจชุมชน และแผนวิสาหกิจชุมชน และ 5. การสร้างเศรษฐกิจชุมชนตัวอย่าง พัฒนายกระดับทางเลือกการพัฒนาที่เป็นรูปธรรม เป็นชุมชน เศรษฐกิจชุมชนตัวอย่าง

Tags:

เรื่องล่าสุด