จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้นในการระบาดระลอกที่ 3 ในประเทศไทย ทำให้ต้องมีการเพิ่มมาตรการรองรับการดูแลผู้ป่วยในหลากหลายแนวทาง โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของโรงพยาบาลสนาม รวมถึง Hospitel สอวช. จึงได้รวบรวมข้อมูลความแตกต่างของทั้งสองสถานที่นี้มาฝากกัน
ข้อมูลจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ให้คําจํากัดความว่า “โรงพยาบาลสนาม” หมายถึง สถานที่ที่ให้การดูแลรักษาพยาบาลในกลุ่มผู้ป่วยไม่แสดงอาการหรือมีอาการน้อย กรณีการระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ซึ่งเกินศักยภาพการจัดระบบบริการในโรงพยาบาล ทั้งนี้การจัดตั้งจะตั้งนอกสถานพยาบาล ขึ้นอยู่กับการดำเนินการของหน่วยงานที่รับผิดชอบในพื้นที่ เช่น วัด โรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงยิม หรือหอประชุมขนาดใหญ่ เป็นต้น
โดยวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในกรณีการระบาดของโควิด-19 ในวงกว้าง คือ
1. จัดตั้งระบบบริการการดูแลรักษาพยาบาล ผู้ป่วยที่เข้าข่าย PUI (Patient Under Investigation: ผู้ป่วยที่ต้องดำเนินการสอนสวนโรค) ในกรณีที่เกินขีดความสามารถของโรงพยาบาล ตั้งแต่การคัดกรองผู้ป่วย การให้การวินิจฉัยดูแลรักษาแบบ One Stop Services
2. สามารถรับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ไว้ดูแลรักษาแบบผู้ป่วยใน และให้การดูแลผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง
3. ใช้เป็นสถานที่เพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีอาการคงที่ และได้รับการส่งตัวมาจากโรงพยาบาลซึ่งดูแลผู้ป่วยในภาวะเฉียบพลัน หรือวิกฤต จนดีขึ้นแล้ว
สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามแต่ละแห่ง เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อให้มีความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ภายใต้การทำงานร่วมกันของกระทรวงสาธารณสุข ได้แก่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้เชี่ยวชาญทั้งด้านระบาดวิทยา ด้านการแพทย์ กับฝ่ายปกครองท้องถิ่นต่างๆ และมีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเป็นผู้อนุญาตให้จัดตั้งได้ ด้วยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ซึ่งมีการจัดโซนนิ่งให้ห่างจากชุมชน อาคารมีระบบจัดการน้ำเสีย การจัดการอากาศ การไหลเวียนของอากาศ มีบุคลากรทางการแพทย์ทำงานประจำและต่อเนื่อง เป็นต้น
ส่วน Hospitel หรือสถานพยาบาลผู้ป่วยเฉพาะกิจ มีที่มาจากการรวมคำว่า Hospital ที่แปลว่า โรงพยาบาล และ Hotel ที่แปลว่า โรงแรม เข้าด้วยกัน จากการปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นสถานพยาบาลชั่วคราว โดย Hospitel เหมาะสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่ต้องการความสะดวกสบาย เป็นส่วนตัวมากกว่าโรงพยาบาลสนาม รองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรือไม่รุนแรง ปรับเปลี่ยนโรงแรมให้เป็นพื้นที่เฝ้าระวังอาการ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ตามหลักเกณฑ์ การปรับใช้โรงแรม เป็น “Hospitel” จะต้องเป็นโรงแรมที่มีห้องพักมากกว่า 30 ห้องขึ้นไป, เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลมาแล้วไม่น้อยกว่า 5-7 วัน และมีผลภาพถ่ายรังสีปอดคงที่, ผู้ป่วยยินดีให้ความร่วมมือ สามารถสื่อสารได้รู้เรื่อง ดูแลตนเองได้ดี ไม่ก้าวร้าว และไม่มีความเสี่ยงทางจิตเวช, ผู้ป่วยไม่มีไข้ กรณีมีโรคประจำตัว ต้องควบคุมอาการได้ดี, ต้องจัดยาให้พร้อม สำหรับให้ผู้ป่วยรับประทานด้วยตัวเองจนครบตามแผนการรักษาของแพทย์ และโรงพยาบาลต้นทางต้องยินดีรับผู้ป่วยกลับเข้ารักษาที่โรงพยาบาล หากผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง
โดยมาตรฐานของ Hospitel คือ ทีมแพทย์จะดำเนินการตรวจและบันทึกอาการผู้ป่วยทุกวันผ่านเทเลเมดิซีนหรือไลน์กลุ่ม, ทุก Hospitel จะต้องมีแพทย์ 1 คนประจำ มีพยาบาลอัตราส่วน 20 เตียงต่อ 1 พยาบาล มีการตรวจคนไข้ผ่านเทเลเมดิซีน และแอพพลิเคชั่นไลน์ มีการเยี่ยมผู้ป่วยทุกวัน พร้อมทั้งมีเครื่องมือพื้นฐานต่างๆ เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดระดับความเข้มข้นออกซิเจนในเลือด และเครื่องเอกซเรย์ เป็นต้น ที่สำคัญ คือ ผู้ป่วยทุกราย ต้องผ่านการตรวจคัดกรองจากโรงพยาบาลหลักก่อน ข้อกำหนดหลักๆ เช่น อายุไม่เกิน 50 ปี ไม่มีโรคประจำตัวอื่น ไม่ใช่เด็ก ไม่ตั้งครรภ์ ไม่มีเอกซเรย์ที่เปลี่ยนแปลง จึงจะสามารถย้ายเข้ามาได้ และในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการมากขึ้นก็จะย้ายไปยังโรงพยาบาลหลักได้ทันที
ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข
กลุ่มฉุกเฉินทางการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข