messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ชวนทำความเข้าใจ Patient Journey เส้นทางของผู้ป่วยโควิด-19 ตามโมเดล SEIR

ชวนทำความเข้าใจ Patient Journey เส้นทางของผู้ป่วยโควิด-19 ตามโมเดล SEIR

วันที่เผยแพร่ 29 เมษายน 2021 2762 Views

นอกจากการสังเกตอาการของตัวเองเบื้องต้นว่ามีโอกาสหรือมีความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ การเตรียมพร้อมและทำความเข้าใจถึงขั้นตอน-เส้นทางการรักษา และการปฏิบัติตัวสำหรับผู้ติดเชื้อก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเรียนรู้เช่นกัน

การเดินทางของผู้ป่วยสามารถประยุกต์จากโมเดลทางคณิตศาสตร์ SIR หรือ SEIR ที่ใช้ในการพยากรณ์โรคติดเชื้อ โดยเป็นการจำลองการแพร่กระจายในระดับประชากร แบ่งได้เป็น ตัว S คือ Susceptible ผู้ที่มีโอกาสได้รับเชื้อ, ตัว E คือ Exposed ผู้สัมผัส, ตัว I คือ Infected ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ, และตัว R คือ Recovered ผู้รักษาหายแล้ว หรือผู้เสียชีวิต

S: Susceptible ผู้ที่มีโอกาสได้รับเชื้อ

ผู้ที่มีโอกาสได้รับเชื้อคือ ประชาชนทั่วไป มีโอกาสได้รับเชื้อจากการระบาดเป็นวงกว้าง มาตรการป้องกันโรคมีทั้งมาตรการระดับบุคคล เช่น การเว้นระยะห่าง การสวมหน้ากาก การล้างมือ การสแกนอุณหภูมิ และการสแกนไทยชนะ (DMHTT) เป็นต้น มาตรการระดับองค์กร เช่น การปรับปรุงสภาพแวดล้อม การทำงานที่บ้าน (Work From Home) มาตรการระดับชุมชน/สังคม แบ่งเป็น มาตรการทางสาธารณสุข เช่น การสื่อสารความเสี่ยง เพื่อสร้างมาตรการระดับบุคคล และมาตรการทางสังคม เช่น ล็อกดาวน์ เคอร์ฟิว ควบคุมโรคตามระดับสีของพื้นที่

วัคซีน จะเข้ามาเป็นตัวช่วยสำคัญในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในกลุ่ม S สามารถป้องกันอาการป่วยหรือการเสียชีวิตให้กับผู้ที่ฉีด รวมสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชากรทั้งหมด ซึ่งโควิด-19 ต้องการระดับภูมิคุ้มกันหมู่ประมาณ 60% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของวัคซีนแต่ละชนิดด้วย

E: Exposed ผู้สัมผัส

ผู้ที่ได้รับเชื้อไปแล้วคือ ประชาชนที่พบกับผู้ติดเชื้อรายก่อนหน้า มาตรการในกลุ่มนี้จะเป็นการกักตัว (Quarantine) สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูง หรือผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ เพื่อสังเกตอาการจนครบระยะฟักตัว 14 วัน ร่วมกับการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการตรวจในวันที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามผู้ที่ได้รับเชื้ออาจไม่ติดเชื้อก็ได้ เพราะได้รับเชื้อในปริมาณน้อย หรือร่างกายสามารถจัดการกับไวรัสได้ ส่วนผู้ติดเชื้อก็มีความรุนแรงแตกต่างกัน ตั้งแต่ไม่มีอาการ มีอาการเล็กน้อย มีอาการรุนแรง หรือมีอาการวิกฤตจนกระทั่งเสียชีวิต

โดยการวินิจฉัยผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ หรือการตรวจหาเชื้อแบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ การตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาล หรือ ‘เชิงรับ’ ผู้ติดเชื้อที่มีอาการเข้ามาตรวจกับแพทย์ รวมถึงผู้สัมผัสที่ยังไม่แสดงอาการด้วย และการค้นหาผู้ป่วย ‘เชิงรุก’ (Active Case Finding) ในชุมชน หน่วยงานด้านสาธารณสุขลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติมในกลุ่มเสี่ยงหรือพื้นที่เสี่ยง หากวินิจฉัยผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อได้เร็ว จะนำไปสู่การควบคุมโรคได้เร็วขึ้นด้วย

I: Infected ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อ

เมื่อผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อได้รับการวินิจฉัยแล้วจะมีการดำเนินการใน 2 ส่วนคือ การรักษา และการควบคุมโรค

กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้ผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หากอาการดีขึ้นจะส่งต่อไปยังโรงพยาบาลสนามหรือ Hospitel ถือเป็นการแยกตัว เพื่อควบคุมโรคไปพร้อมกัน ข้อดีของระบบการรักษาในโรงพยาบาลคือ แพทย์จะสามารถติดตามอาการของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิด หากมีอาการแย่ลงก็สามารถช่วยเหลือได้ทันท่วงที ในขณะที่การแยกตัวที่บ้านต้องประเมินความพร้อมของผู้ป่วยก่อนว่าอาการเป็นอย่างไร มีปัจจัยเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือไม่ และประเมินความพร้อมของที่พัก/ชุมชน ว่าสามารถแยกตัวจากสมาชิกคนอื่นในครอบครัวได้หรือไม่ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อต่อ

ส่วนการควบคุมโรค จะต้องสอบสวนโรคเพื่อ หาแหล่งโรค ถ้ามีแหล่งโรคร่วม เช่น กิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนจำนวนมาก จะได้นำไปสู่การขยายผลค้นหาผู้ป่วยเพิ่มเติม ติดตามผู้สัมผัส ในกลุ่ม E เพื่อกักตัวและตรวจหาเชื้อ รวมถึง ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม ที่อาจปนเปื้อนเชื้อจากผู้ป่วย

R: Recovered ผู้รักษาหายแล้ว หรือผู้เสียชีวิต

ผู้รักษาหายแล้วคือ ผู้ป่วยที่แยกตัวจนครบระยะแพร่เชื้อ 14 วัน และไม่มีอาการติดต่อกัน 1-2 วัน สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหนักจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาลจนกว่าอาการจะดีขึ้น ส่วนผู้เสียชีวิต ศพจะได้รับการบรรจุในถุงและทำความสะอาดถุงด้านนอก สามารถประกอบพิธีกรรมทางศาสนาได้ตามปกติ สัมผัสถุงภายนอกได้ โดยสวมถุงมือยางแบบใช้แล้วทิ้ง แต่ห้ามเปิดถุงเพื่อรดน้ำหรือทำความสะอาดศพ

เมื่อทำความเข้าใจเส้นทางของผู้ป่วยในแต่ละขั้นแล้ว จะทำให้เห็นภาพรวมของการติดเชื้อไปจนถึงการรักษาโรคอย่างเป็นระบบมากขึ้น โดยมาตรการที่สำคัญคือ การฉีดวัคซีนให้ S, การป้องกันไม่ให้ S กลายเป็น I, การกักตัว E, การตรวจพบ I ให้ไวและแยกตัวให้ทัน และการรักษา I ให้ไปสู่ R ได้อย่างปลอดภัย

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://thestandard.co/covid-19-patient-journey/

https://bigdata.go.th/big-data-101/modeling-infectious-diseases/

Tags:

เรื่องล่าสุด