เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดประชุมคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่องด้านการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมและการพัฒนาปรับปรุงกฎหมาย กฎและระเบียบ ครั้งที่ 1/2564 โดยมี ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นั่งเป็นประธาน
ศ.(พิเศษ) ดร. เอนก เปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ ได้มีการหยิบยกประเด็นแนวทางปฏิบัติเพื่อการจัดตั้งและดำเนินการนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน หรือ Holding Company ของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐมาหารือ ซึ่งตนมองว่า Holding Company ที่ดีควรต้องเอาส่วนที่ได้จากธุรกิจมาสนับสนุนการวิจัยของมหาวิทยาลัยไปในทางที่ดียิ่งขึ้น หรือพัฒนาแบบที่สอดคล้องกับศักยภาพที่เป็นจริงของมหาวิทยาลัย โดยต้องทำให้มหาวิทยาลัยเจริญก้าวหน้า ถึงเวลาแล้วที่มหาวิทยาลัย หรือ อว. จะช่วยทำให้ประเทศพ้นไปจากกับดักรายได้ปานกลาง ต้องช่วยกันคิด ไม่อยากให้คิดแต่เรื่องกฎหมายอย่างเดียว แม้ว่าเรื่องกฎหมายสำคัญมาก แต่จะทำอย่างไรให้ Holding Company ได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบริหารและการเมืองโดยต้องทำให้เขาเข้าใจทั้งหมด ไม่ใช่แค่เพียงว่ามหาวิทยาลัยมีวิจัยเยอะแล้ว และอยากจะมาทำธุรกิจก็เลยคิดทำเรื่องนี้ขึ้นมา แต่มหาวิทยาลัยที่ทำ Holding Company เก่งๆ อาจชนะมหาวิทยาลัยที่ล้ำหน้าได้ในเวลาไม่นานนัก โดยใช้ศักยภาพทางการบริหารจัดการ วิสัยทัศน์ ผมมองว่ามันเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการที่จะทำให้งานวิชาการคึกคัก อันนี้ต้องโยงกับภาคธุรกิจให้มาก และยังต้องโยงกับธุรกิจต่างประเทศด้วย
“ผมคิดว่าการทำ Holding Company ให้ดีจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของเรา ต้องพยายามทุ่มเทคิดเรื่อง Holding Company ให้ดีที่สุด ถามว่าเรามีพื้นฐานที่จะทำไหม เรามีเพราะภาคธุรกิจ เอกชนของเราเก่ง แต่ต้องบวกกำลังกันระหว่างมหาวิทยาลัย หน่วยงานวิจัยและนวัตกรรมกับภาคเอกชน แล้วก็คิดเรื่องนี้ร่วมไปกับบริษัทหรือหน่วยวิจัยของต่างประเทศไปด้วยเราอาจจะก้าวกระโดดใหญ่ๆ ได้เลย” ศ.พิเศษ ดร. เอนก กล่าว
ส่วนในประเด็นการหารือยานยนต์ไฟฟ้าที่เสนอในที่ประชุม รมว.อว. กล่าวว่า ในสมุดปกขาว “การส่งเสริมและพัฒนายานยนต์สมัยใหม่” อยากเสนอให้มีเรื่องหลักที่เป็นโอกาสที่ประเทศไทยจะทำได้แบบเจาะจง เช่น สร้างแบรนด์เนมไทย ซึ่งก็ท้าทายและดึงดูด หรือการทำแบตเตอรี่ เป็นต้น โดยเราถือโอกาสทำสมุดปกขาวที่ให้เรามีอะไรที่จะทำให้เกิดการก้าวกระโดดใหญ่ๆ หรือเกิดการสร้างทางลัดใหม่ๆ เกิดอะไรที่ได้ผลรวดเร็วกว่าที่เคยทำมา เป็น Paradigmatic Change เปลี่ยนใหญ่ไปเลย ถ้าทำแบบปกติเราตามหลังคนอื่น แต่ถ้าเราคิดแบบนี้ออกเราอาจจะเริ่มนำหน้า เช่น เราคิดว่ายานยนต์แห่งอนาคตมันลงท้ายอยู่ที่ AI ไปถึงขั้นเคลื่อนย้ายโดยไม่มีคนขับ ชี้ขาดโดย AI ของใครดีที่สุด เป็นไปได้ไหมที่เราจะทำ AI ให้ดีที่สุด ไปเน้น AI กับเรื่องแบตเตอรี่ อว. ทำอะไรเก่งอยู่แล้วสนับสนุนตรงนั้นไปให้ดีที่สุดแล้วให้มาบรรจบกัน ก็จะกลายเป็นสมุดปกขาวพัฒนายานยนต์สมัยใหม่ที่มีโอกาสที่จะชนะคนอื่นได้
สำหรับเนื้อหาสาระการประชุม ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เปิดเผยว่า สอวช. ได้รายงานความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนการส่งเสริมระบบนิเวศนวัตกรรมที่สนับสนุนการสร้างผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม หรือ IDE (Innovation-Driven Enterprise) โดยมีความก้าวหน้าที่สำคัญ อาทิ การสร้างผู้ประกอบการ/ธุรกิจฐานนวัตกรรม การสร้างกลไกตลาดนวัตกรรม (Demand) โดย สอวช. อยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอในการปรับปรุงบัญชีนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการ TBIR ตามโจทย์ที่มีตลาดภาครัฐและตลาดขนาดใหญ่ การลดความเสี่ยงภาคธุรกิจ ได้มีการศึกษาเรื่อง การสร้างระบบนิเวศใก้แก่สตาร์ทอัพ หรือ Startup Ecosystem การสร้างแรงจูงใจ สิทธิประโยชน์ เช่น การจัดตั้งกองทุนนวัตกรรมเพื่อ SME การปลดล็อกกฎหมาย/กฎระเบียบ ทั้งในส่วนระเบียบจัดซื้อจัดจ้างเพื่อการวิจัยและนวัตกรรม ร่าง พรบ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม และการร่างระเบียบร่วมทุนเพื่อการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ นอกจากนี้ สอวช. ยังได้จัดทำแนวทางการจัดตั้ง Holding Company ของสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐ ตลอดจนมีความคืบหน้าด้านโครงสร้างระบบสนับสนุนและระบบบริหารจัดการ อววน. ที่มีประสิทธิภาพ ทั้งการศึกษาแนวทางที่จะทำให้เกิดการให้ทุนแบบ Multi-year การเชื่อมโยงข้อมูล อววน. เพื่อการใช้ประโยชน์ ด้านการเพิ่มสมรรถนะการวิจัย โครงสร้างพื้นฐาน วทน. และบุคลากรที่มีคุณภาพ เช่น การวิเคราะห์และทดสอบยานยนต์สมัยใหม่ นอกจากนี้ ยังมีการขับเคลื่อนเขตนวัตกรรม ซึ่ง สอวช. อยู่ระหว่างการศึกษาเรื่องระเบียงเศรษฐกิจนวัตกรรม Route # 1 Innovation Economic Corridor 2 เส้นทางตั้งแต่บ่อเต็น – หนองคาย และบ่อเต็น – เชียงของ เชียงใหม่ และยังพัฒนา Thailand Talent Platform แพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์กำลังคนที่มีความสามารถสูงของประเทศไทย ซึ่ง สอวช. ทำระบบสารสนเทศ ร่วมกับหน่วยงานที่มีนักเรียนทุน นักวิจัย และหน่วยงานที่ใช้ประโยชน์จากนักเรียนทุน เป็นต้น