messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. ร่วมเวที UNDP เปิดตัว Accelerator Lab ในประเทศไทย พร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573

สอวช. ร่วมเวที UNDP เปิดตัว Accelerator Lab ในประเทศไทย พร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี 2573

วันที่เผยแพร่ 22 มิถุนายน 2021 584 Views

(21 มิถุนายน 2564) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. ร่วมบรรยายในการเปิดตัว Accelerator Lab ประจำประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์ที่จัดขึ้นโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือ UNDP Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายการเรียนรู้ระดับโลก และมีการทำงานร่วมกับ Accelerator Lab อีกมากกว่า 90 แห่งใน 115 ประเทศ ที่ตั้งอยู่เกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการเร่งหาทางออกต่อความท้าทายให้ได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs

บทบาทหน้าที่ของ Accelerator Labs จะทำงานร่วมกับพันธมิตรและภาคส่วนในระดับประเทศเพื่อจัดการกับความ
ท้าทายด้านการพัฒนาที่ซับซ้อนขึ้นในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์และมีพลัง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ส่วนการศึกษาและภาคประชาสังคม มีการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมในหลายด้าน เช่น การจัดตั้ง Thailand Policy Lab ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ (NESDC) และ UNDP เพื่อเร่งสร้างนวัตกรรมในภาครัฐ ซึ่ง Accelerator Lab จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Thailand Policy Lab เพื่อนำการทดลองและหลักฐานมาช่วยในการกำหนดนโยบาย และทำต้นแบบแนวทางการแก้ปัญหาจากข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึก วิทยาศาสตร์ข้อมูล วิธีการทางชาติพันธุ์วิทยา และการใช้แนวคิดเชิงนวัตกรรมแบบต่างๆ ร่วมหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาในศตวรรษที่ 21

ดร.กิติพงค์ เริ่มการบรรยายด้วยการกล่าวแสดงความยินดีกับ UNDP Thailand และสภาพัฒน์ ที่ได้เปิดตัว Accelerator Lab ขึ้นมา และถือเป็นโอกาสสำคัญที่ สอวช. ได้มีส่วนร่วมแบ่งปันแนวความคิด ในการทำงานร่วมกันเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญที่ทุกคนได้มีการตกลงที่จะมีความพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อให้ประสบผลสำเร็จภายในปี 2573 และแนวทางเดียวที่จะทำให้เกิดขึ้นได้คือการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน ทั้งในระดับนานาชาติและระดับประเทศ ร่วมกับผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย จากทั้งรัฐบาล ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน

“การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผลกระทบที่ไม่คาดคิดที่สร้างความท้าทายให้กับเราทุกคนว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 ตามแผนเดิมได้หรือไม่ และเนื่องจาก ฐานวิถีชีวิตใหม่หลังโควิด-19 หรือ วิถีชีวิตแบบนิวนอร์มัล ที่นำไปสู่กฎเกณฑ์ใหม่ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจึงต้องหันกลับมาพิจารณาทบทวนแผนการพัฒนาเพื่อการฟื้นฟูและการเติบโตของประเทศ และในการพัฒนาควรนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต ซึ่งแน่นอนว่าควรจะเป็นการเติบโตที่ครอบคลุม โดยไม่ควรลืมกลุ่มคนที่อยู่ฐานล่างของพีระมิด การขจัดความยากจนจึงถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอื่นได้ หากยังคงมีประชากรที่ยากจน มีชีวิตอยู่ด้วยความหิวโหยและสุขภาพที่ย่ำแย่” ดร.กิติพงค์ กล่าว

ผลการสำรวจล่าสุดจากสภาพัฒน์ แสดงให้เห็นว่าจำนวนคนยากจนในประเทศไทยมีทั้งหมด 983,316 คน (ผลสำรวจ TP map, 2019) การเกิดขึ้นของ Accelerator Lab จะเข้ามาช่วยหาแนวทางนำคนเหล่านี้ออกจากความยากจนได้ อาจเริ่มต้นดำเนินการจาก 10 จังหวัดนำร่องที่ยากจนที่สุดในประเทศไทยให้สำเร็จภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่ง สอวช. มีการทำงานทั้งในด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 ที่มีหนึ่งในเป้าหมายคือการใช้ อววน. โดยเฉพาะนวัตกรรม ในการช่วยเหลือการขจัดความยากจนด้วย

นอกจากนี้ประเทศไทยยังตั้งเป้าหมายที่จะหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ด้วยการเปลี่ยนแปลงประเทศให้มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม รวมถึงหาแนวทางเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรและผู้ประกอบการ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมีบทบาท ในการร่วมกันจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้นวัตกรรมใหม่สามารถเติบโตได้

อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะมุ่งเน้นคือปัญหาสิ่งแลดล้อมที่ได้รับความสนใจในระดับสากลมากขึ้น ประเทศไทยต้องเร่งการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน จุดมุ่งหมายคือลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง 1 ใน 4 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25% ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่มีพรมแดน ทั้งยังส่งผลกระทบในระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของเราทุกคน
สิ่งสุดท้ายที่สำคัญคือต้องไม่ลืมทุนมนุษย์ ต้องทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีทักษะที่ถูกต้อง เหมาะสม ทั้งด้านเทคนิค และสมรรถนะเพื่อให้สอดคล้องกับอาชีพทั้งในศตวรรษที่ 21 และในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มสตรีและผู้ด้อยโอกาส ต้องทำให้แน่ใจว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

ดร.กิติพงค์ ยังได้กล่าวปิดท้ายว่า ควรมีการสนับสนุนคนที่เก่งและมีความสามารถ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ ให้สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานที่ต่างๆ หรือทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก เพื่อให้เราทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด และ Accelerator Lab นี้จะมีบทบาทสำคัญมากที่จะเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน เพื่อเร่งกระบวนการในการพัฒนาและฟื้นฟูจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในด้านนโยบาย ที่ต้องมีการประสานงาน การกำหนดนโยบาย รวมทั้งการออกแบบกลไกในการสร้างระบบนิเวศที่ดีสำหรับนักนวัตกรรมสังคมในการทำงานร่วมกัน สร้างพื้นที่ในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ของผู้กำหนดนโยบาย นักวิทยาศาสตร์ และนักนวัตกรรมทางสังคม เพื่อให้พวกเขารู้สึกถึงพลังของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ซึ่งเป็นกุญแจที่จะเอาชนะความซับซ้อนของความท้าทายในปัจจุบัน และทำให้เกิดความก้าวหน้าที่รวดเร็วในการบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

กิจกรรมในครั้งนี้ยังมีแขกรับเชิญหลายท่านร่วมพูดคุยถึงบทบาทของการเรียนรู้ การคิดอย่างรวดเร็วและตอบโจทย์ต่อความท้าทายด้านการพัฒนา และการทำงานร่วมกันเพื่อเร่งหาทางออกต่อปัญหาด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน มีการนำเสนอวิธีการทำงานของ UNDP Accelerator Lab ในประเทศไทย อีกทั้งยังมีวงเสวนาแลกเปลี่ยนในหัวข้อ การใช้นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีความยั่งยืนและตอบโจทย์ต่อคนทุกกลุ่ม รวมถึงสะท้อนมุมมองประเด็นก้าวต่อไปของนวัตกรรมในประเทศไทยอีกด้วย

Tags:

เรื่องล่าสุด