(23 มิถุนายน 2564) ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้รับเชิญจากโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เพื่อบรรยาย ในหัวข้อ “BCG Model โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ให้กับบุคลากรของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ผ่านระบบออนไลน์ มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความตระหนักและความเข้าใจเกี่ยวกับ บีซีจี โมเดล และสามารถนำหลักการไปเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของภาคอุตสาหกรรมได้ ซึ่งมีผู้บริหารและพนักงานสนใจเข้าร่วมรับฟังกว่า 140 คน
ดร.กิติพงค์ ชี้ให้เห็นองค์ประกอบของ บีซีจี โมเดล ได้แก่ Bioeconomy หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มในภาคการผลิตและบริการบนฐานทรัพยากรชีวภาพ Circular Economy หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน เน้นให้เกิดวงจรการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืน และ Green Economy หรือเศรษฐกิจสีเขียว เน้นการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแนวทางการพัฒนาประเทศด้วย บีซีจี โมเดล สอดคล้องไปกับหลักเศรษฐกิจพอเพียง (SEP) รวมถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยการพัฒนาเศรษฐกิจ บีซีจี แบ่งออกเป็น 4 สาขาหลัก ได้แก่ 1.เกษตรและอาหาร เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ เกษตรแม่นยำ Smart Greenhouse พืชเศรษฐกิจและปศุสัตว์ชนิดใหม่ และภาพถ่ายทางดาวเทียว, 2.สุขภาพและการแพทย์ เช่น การสกัดสมุนไพร ยีนบำบัด วัคซีน และยาชีววัตถุคล้ายคลึง เครื่องมือการแพทย์ ข้อมูลจีโนมเพื่อการรักษาเฉพาะบุคคล การแพทย์ทางไกล, 3.พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ เช่น โรงไฟฟ้า Biomass โรงกลั่นชีวภาพ โรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และอุตสาหกรรมโอเลโอเคมี และ 4.การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน และผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ในส่วนของสถานการณ์ปัจจุบันของการพัฒนาเศรษฐกิจบีซีจี ในสาขาพลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ ยังมีความท้าทายในส่วนการลดการนำเข้าพลังงาน ทั้งที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับต้นๆ ของอ้อย มันสำปะหลัง แต่มีการนำเข้าพลังงาน 1 ล้านล้านบาท และเคมีภัณฑ์ 5 แสนล้านบาท นอกจากนี้ยังมีความท้าทายในเรื่องชีวมวล 40 ล้านตัน ที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ และมีการกำจัดที่ไม่ถูกวิธี ซึ่งเป็นประเด็นที่ต้องนำเอาองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วย
ในด้านการสนับสนุน ส่วนของกลุ่มสตาร์ทอัพที่ต้องการเริ่มทำธุรกิจเกี่ยวกับ บีซีจี จะมีกองทุนสนับสนุนด้านเงินทุน เช่น สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) BOI รวมถึงหน่วยบริหารจัดการทุนต่างๆ ที่สามารถขอสนับสนุนเงินทุนในรูปแบบ Matching Fund ได้ และสำหรับการมีส่วนขับเคลื่อนเรื่อง บีซีจี ของโรงไฟฟ้าร่วมกับชุมชน อาจไม่จำเป็นต้องเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจโรงไฟฟ้าโดยตรง แต่เป็นการตั้งเป้าหมายเพื่อการพัฒนายกระดับชุมชนโดยรวม อย่างเช่นการส่งเสริมการจัดตั้งตลาดวัฒนธรรม ที่ได้ดำเนินการไปแล้วในหลายพื้นที่ เพื่อให้ครัวเรือนท้องถิ่นมีอาชีพ สร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับชุมชน