messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » มองประเทศไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับโอกาสในการพัฒนา BCG Economy Model

มองประเทศไทยหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 กับโอกาสในการพัฒนา BCG Economy Model

วันที่เผยแพร่ 23 มิถุนายน 2021 1054 Views

หลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนไทยและทั่วโลกจะมองหา “ความมั่นคงของมนุษย์” ครอบคลุมความมั่นคงทางด้านสุขภาพและการแพทย์ ด้านความมั่นคงทางด้านอาหาร ความมั่นคงทางด้านพลังงาน ตลอดจนความมั่นคงของการมีงานทำ ซึ่งทั้ง 4 สาขายุทธศาสตร์ของโมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้แก่ เกษตรและอาหาร, สุขภาพและการแพทย์, พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ, การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ จะช่วยให้ประเทศไทยมีความมั่นคงดังกล่าว และสามารถขายในตลาดโลกได้

ด้านสุขภาพและการแพทย์ เป็นประเด็นการพัฒนาที่มีความสำคัญและเร่งด่วนหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (health & wellness) ของโลกและเป็น Medical hub ของภูมิภาค โดยสิ่งที่เราต้องเพิ่มเติมความสามารถคือ การผลิตยาและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นได้เอง เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ยารักษาโรคสะเก็ดเงิน ยาเพิ่มเม็ดเลือดแดง ยารักษาโรคมะเร็ง รวมถึงวัคซีน และชุดตรวจวินิจฉัย ที่ทางด้านการวิจัยและนวัตกรรมอยู่ระหว่างการศึกษา ส่วนชุดตรวจโควิด-19 ปัจจุบันไทยสามารถผลิตได้แล้วและได้บริจาคให้กับประเทศเพื่อนบ้านแล้ว นอกจากนี้เรายังมีความสามารถในการตั้งโรงพยาบาลสนามด้วยนวัตกรรมอุปกรณ์ทางการแพทย์ของเราเองด้วย

ด้านอาหาร ไทยเองมีศักยภาพที่สามารถเป็นครัวโลกที่สะอาด และปลอดภัย ได้มาตรฐานโลก โดยต้องพยายามปรับการผลิตอาหารประเภทส่วนเกิน คือ กลุ่มอาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต เช่น แป้ง น้ำตาล มาเป็นโปรตีนมากขึ้น เพื่อสร้างโอกาสให้กับประเทศ ด้วยการนำแนวทาง BCG เข้าไปช่วย และทำให้กลุ่มคนทุกระดับได้รับสารอาหาร และสามารถเข้าถึงอาหารได้ จะเกิดความมั่นคงทางด้านอาหารได้ในที่สุด

ด้านพลังงาน ปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพาแก๊สธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าจำนวนมากถึงร้อยละ 60 และมีแนวโน้มว่าจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นมากในอนาคต BCG จะเข้ามาช่วยให้ไทยเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน จากเดิมร้อยละ 16.5 ในปี 2562 เพิ่มเป็นร้อยละ 20

การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (health & wellness) ของโลก อีกทั้งในด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ BCG จะเข้ามาช่วยในการออกแบบเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ เช่น กระบวนการออกแบบหมุนเวียน หรือ “Circular Design” โดยได้นำกระบวนการ Design Thinking, Human Centered Design และ Business Model Canvas มาผนวกกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ประกอบการออกแบบสินค้าและบริการที่สอดคล้องกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างมีระเบียบแบบแผน ตลอดจนจุดประกายไอเดียใหม่ๆ โดยการค้นหาช่องว่างทางโอกาสของธุรกิจในเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการ และโมเดลธุรกิจที่สร้างคุณค่าและตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ ในขณะที่ยังรักษาคุณค่าของสินค้าและบริการได้จนสิ้นสุดอายุการใช้งาน โดยล่าสุด สอวช. ได้ร่วมมือกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย จัดให้มีโครงการสร้างขีดความสามารถด้าน Circular Design โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิต Trainer ด้านดังกล่าว ใน 10 เส้นทางธุรกิจ อาทิ อาหาร ก่อสร้าง พลาสติก ยานยนต์ ชุมชน ฯลฯ เป็นต้น

โอกาสเหล่านี้ไทยเองต้องเพิ่มศักยภาพในหลายๆ ด้าน เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคและความท้าทาย อันจะนำไปสู่การเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ด้วยการเพิ่มการเข้าถึงและการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม พัฒนาคนให้มีทักษะสูงขึ้น มีความสามารถในการพึ่งพาตนเองมากขึ้น ตลอดจนการปรับการใช้งบประมาณในการแก้ปัญหาเป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาในระยะยาว ครอบคลุมการปรับและปลดล็อคกฎหมาย กฎระเบียบ ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโมเดล BCG เช่น ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ, พ.ร.บ. ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น ซึ่งในส่วนของโครงการภายใต้ BCG Economy Model ทาง สอวช. จะมีส่วนช่วยในการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศ รวมถึงกำหนดกรอบโจทย์การวิจัยเพื่อจัดสรรทุนวิจัย ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา BCG model รวมถึงมีบทบาทสำคัญในการออกแบบและผลักดันนโยบาย BCG Economy เป็นหนึ่งในคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model มีหน้าที่จัดทำแผนงานขับเคลื่อนและกำหนดกลไกส่งเสริมการพัฒนาตามนโยบาย BCG Model เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ด้านการเตรียมกำลังคนรองรับ BCG Economy สอวช. ได้ประเมินความต้องการกำลังคน สำหรับ BCG ใน 4 สาขายุทธศาสตร์ และมีการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนหลายโครงการ เช่น การบูรณาการการเรียนรู้กับการทำงาน (Work-Integrated Learning: WiL) การส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคเอกชน (Talent Mobility) เป็นต้น

ด้านการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน สอวช. ได้จัดทำร่าง สมุดปกขาวการพัฒนาระบบเพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน และออกแบบ 4 โปรแกรมปักหมุด (anchor program) เพื่อขับเคลื่อน ได้แก่

– การทำ sandbox

– การสร้างแพลตฟอร์มนวัตกรรมนโยบาย

– การสนับสนุนทุนวิจัย

– การสร้างความเข้าใจให้กับผู้บริโภค

นอกจากนี้ สอวช. กำลังทำการศึกษาแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน และดำเนินโครงการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐ บริษัทเอกชนต่าง ๆ ผู้ประกอบการ ประชาชน สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย ตลอดจนมีความร่วมมือกับต่างประเทศ เช่น โครงการศึกษาทางเลือกเชิงนโยบายในการพัฒนาระบบการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์ ร่วมกับสถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การลงนาม MOU เรื่อง การพัฒนานโยบายเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย รวมถึงการทดลองทำโปรแกรม Train the Trainers ของ CIRCO ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการไทย ด้านการออกแบบธุรกิจและผลิตภัณฑ์บนหลักการของเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น

ที่มา : https://www.posttoday.com/politic/columnist/651863

Tags:

เรื่องล่าสุด