อย่างที่เราทราบกันดีว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 นอกจากส่งผลกระทบต่อสุขภาพและระบบสาธารณสุขแล้ว ยังส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจทั้งในประเทศและในระดับโลกอย่างสาหัส
สอวช. เข้าใจถึงปัญหาและมองเห็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่สามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังวิกฤตในครั้งนี้ โดยการนำ BCG Economy Model ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นตัวช่วย
BCG Economy Model เป็นโมเดลเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) สามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.nxpo.or.th/th/7040/
ดังนั้นเรามาดูกันว่าจะสามารถนำ BCG Economy Model มาช่วยฟื้นฟูประเทศไทยหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้อย่างไร ทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ด้านเศรษฐกิจ
มาดูกันที่ด้านเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยมีความเปราะบางเพราะพึ่งพาต่างประเทศสูง เห็นได้จากรายได้ในภาคการท่องเที่ยวที่ส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ นอกจากนี้ประเทศไทยยังพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนสูง ในขณะที่สินค้าสำคัญของประเทศมีมูลค่าเพิ่มต่ำ
ดังนั้นเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 จึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีรูปแบบเศรษฐกิจที่เน้นการพึ่งพาตนเอง สร้างความเข้มแข็งจากภายในและเติบโตอย่างมีคุณภาพ
อย่างเช่นการสร้างความสามารถในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้วยตนเองมากขึ้น เพื่อยกระดับมูลค่าในห่วงโซ่การผลิตสินค้าและบริการ และยังคงเชื่อมต่อกับประชาคมโลก จากการรับจ้างผลิต เป็นการสร้างมูลค่าจากการสร้างสินค้าและบริการที่มีมูลค่าสูงเอง อีกทั้งเปลี่ยนรูปแบบการผลิตจากการ “ผลิตมากแต่สร้างรายได้น้อย” (More for Less) ไปสู่การผลิตสินค้าพรีเมี่ยมที่ “ผลิตน้อยแต่สร้างรายได้มาก” (Less for More)
นอกจากนี้ การที่ประเทศไทยจะสร้างความเข้มแข็งจากภายในเพื่อฟื้นฟูประเทศได้นั้น จำเป็นต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ครอบคลุม 4 สาขายุทธศาสตร์ที่ประเทศไทยมีศักยภาพและมีความสำคัญมากขึ้นหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้แก่ 1. เกษตรและอาหาร
2. สุขภาพและการแพทย์ 3. พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ 4. การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์
หากดำเนินการตามแผนที่วางไว้ได้ คาดว่าภายใน 5 ปี (ปี 2564-2569) จะสามารถสร้างมูลค่า GDP ของ 4 สาขานี้เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท จากปัจจุบันที่มีมูลค่าประมาณ 3.4 ล้านล้านบาท (21% ของ GDP)
ด้านสังคม
ต่อมาคือด้านสังคม เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ส่งผลกระทบให้เกิดการว่างงานและการขาดแคลนรายได้
BCG Economy Model จะเข้ามาช่วยในส่วนนี้ได้ เพราะโมเดลนี้ให้ความสำคัญกับการเดินหน้าไปด้วยกันและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เน้นส่งเสริมรวมถึงการพัฒนาระดับพื้นที่ สร้างอาชีพใหม่และโอกาสธุรกิจใหม่ตั้งแต่ฐานรากอย่างภาคเกษตรไปจนถึงยอดสามเหลี่ยมที่เป็นเทคโนโลยีนวัตกรรมขั้นสูง เป็นหลักประกันการมีงานทำและขับเคลื่อนร่วมกันทุกภาคส่วน
สำหรับเป้าหมายภายใน 5 ปีนี้ BCG Economy Model จะเข้ามาช่วยเพิ่มอัตราการจ้างงานจากเดิม 16.5 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน และเมื่อเกิดการจ้างงานจำนวนมาก ก็จะเกิดการกระจายรายได้สู่ภาคประชาชนได้มากขึ้น และนำไปสู่การสร้างความก้าวหน้าด้านเศรษฐกิจของประเทศไทยในระยะยาว
ด้านสิ่งแวดล้อม
สุดท้ายคือด้านสิ่งแวดล้อม หลายคนอาจไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นเรื่องใกล้ตัวเรากว่าที่คิด เห็นได้ชัดจากการอยู่บ้านหรือการทำงานจากบ้าน ซึ่งส่งผลให้คนหันมาใช้บริการอาหารเดลิเวอรี่ และทำให้เกิดขยะเพิ่มขึ้น
ในส่วนนี้เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) จึงมีบทบาทสำคัญในการทำให้เกิดระบบการจัดการขยะและของเสีย โดยเฉพาะขยะพลาสติก ขยะอาหาร และอาหารเหลือทิ้ง รวมถึงทำให้มีขยะน้อยลง เช่น การออกแบบผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตให้เกิดของเสียน้อยที่สุด (Eco-design & Zero-Waste) การส่งเสริมการใช้ซ้ำ (Reuse, Refurbish, Sharing) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle, Upcycle)
โดยเป้าหมายภายใน 5 ปีนี้ BCG Economy Model จะลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง 1 ใน 4 จากปัจจุบัน และลดผลกระทบจากมลพิษด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ขยะในทะเล PM 2.5 และน้ำเสีย เป็นต้น
จากแนวทางการฟื้นฟูทั้ง 3 ด้าน จะเห็นได้ว่า BCG Economy Model มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และเป็นทางรอดของประเทศไทยหลังสถานการณ์โควิด-19 เพราะสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ด้วยการการยกระดับอุตสาหกรรม BCG ให้แข่งขันได้ในระดับโลก การเพิ่มจำนวนการจ้างงาน การสร้างรายได้ให้คนไทยทุกระดับ กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึง เพิ่มความเท่าเทียมในสังคม ทำให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ช่วยรักษาและฟื้นฟูฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดด มีคุณภาพและยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ สอวช. สนับสนุนให้ BCG Economy Model เป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่สามารถช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศหลังวิกฤตโควิด-19 ต่อไป