messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. ร่วมเวทีบีโอไอ แลกเปลี่ยนข้อมูลการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และเมืองอัจฉริยะ สร้างเครือข่ายความร่วมมือไทย-เกาหลี

ผู้เชี่ยวชาญนโยบาย สอวช. ร่วมเวทีบีโอไอ แลกเปลี่ยนข้อมูลการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และเมืองอัจฉริยะ สร้างเครือข่ายความร่วมมือไทย-เกาหลี

วันที่เผยแพร่ 11 สิงหาคม 2021 681 Views

(10 สิงหาคม 2564) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (The Board of Investment of Thailand: BOI) โดยกองประสานและพัฒนาปัจจัยการลงทุน ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการลงทุน ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี จัดสัมมนาออนไลน์ ในหัวข้อ “Thai-Korea Biz Networking on EV & Charging Station in the Smart Cities” เพื่อเป็นการสร้างเครือข่าย เพิ่มโอกาสทางธุรกิจระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนของสาธารณรัฐเกาหลีและผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะในภูมิภาค โดยมี ดร.ธนาคาร วงษ์ดีไทย ผู้เชี่ยวชาญนโยบายอาวุโส สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมเป็นวิทยากรการอภิปรายในหัวข้อ “Current Programs for Supporting Co-Jointed Projects” ตามที่ สอวช. มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนด้านการวิจัยและนวัตกรรมในอุตสาหกรรมที่สำคัญ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และเมืองอัจฉริยะ

ดร.ธนาคาร ได้กล่าวถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือภาวะโลกร้อนที่กำลังทวีความรุนแรง ทำให้หลายประเทศตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤติการณ์ที่เข้ามาใกล้ตัวมากขึ้น ประเทศไทยมีนโยบาย จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 ตั้งเป้าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 20-25% ในปี 2030 ในภาคพลังงาน ตั้งเป้าว่าจะมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศสุทธิเป็นศูนย์จากการดำเนินธุรกิจหรือการบริการ ส่วนในภาคการคมนาคมและขนส่ง คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ได้มีการตั้งเป้าหมายการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้ 30% ในปี 2030 และมีโอกาสไปถึง 100% ในปี 2035

วัตถุประสงค์ของการสนับสนุนการร่วมทุน คือ การส่งเสริมและพัฒนากลไกการดำเนินงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในประเทศกับหน่วยงานต่างประเทศหรือเครือข่ายระหว่างประเทศ การสร้างความเข้มแข็งด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและสร้างประโยชน์ร่วมกัน การแก้ไขปัญหาและข้อจำกัดของการนำผลการวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์จริง (Translational Research) ด้วยการเติมเต็มช่องว่างระหว่างการวิจัยและการนำผลงานออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ การสร้างความเชื่อมั่นในการนำงานวิจัยไปใช้จริง และการสร้างโอกาสให้กับกลุ่ม SME และสตาร์ทอัพในการทำธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่

ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) มีหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit: PMU) จำนวน 7 หน่วยงาน โดยมี 3 หน่วยงานที่ดำเนินการภายใต้การกำกับดูแลของสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ ได้แก่ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัย และสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และมีหน่วยงานที่ทำงานสืบเนื่องกันคือ หน่วยงานด้านการวิจัยและผู้นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ ได้แก่ มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน หน่วยงานวิจัย และภาคประชาสังคม ที่มีบทบาทหน้าที่ในการสร้างงานวิจัยและนวัตกรรม การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ รวมถึงการบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม

ในส่วนการดำเนินงานของ บพข. มีเป้าหมายในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมไทยโดยการเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างการวิจัยไปสู่การนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ โดยมีโครงการที่อยู่ภายใต้การดูแลของ บพข. ที่มีความสอดคล้องกับแนวทางการส่งเสริมการพัฒนาด้านยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และเมืองอัจฉริยะ เช่น แผนงานยานยนต์แห่งอนาคต หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (Future Mobility, Robotics and Automation) แผนงานการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (Technology Localization) และแผนงานการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ (Global Partnership) เป็นต้น

สำหรับโครงการเกี่ยวกับยานยนต์แห่งอนาคต หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ จะเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการวิจัยที่ได้รับและถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีที่พัฒนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ สร้างความเข้มแข็งด้านขีดความสามารถในการวิจัยและนวัตกรรมของภาคเอกชนไทยเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า การขนส่งระบบราง การบิน โลจิสติกส์ หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตัวอย่างโครงการในกลุ่มนี้ เช่น โครงการนำร่องรถโดยสารไฟฟ้าระหว่างเมืองสำหรับโคราชเมืองไฟฟ้า ที่เน้นการพัฒนาเพิ่มประสิทธิภาพของยานยนต์ไฟฟ้า ระบบแบตเตอรี่ อุปกรณ์ควบคุม รวมไปถึงการอัดประจุไฟฟ้าแบบเร็ว, แผนงานเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า (EV Component) เป็นการพัฒนาการผลิตชิ้นส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่มรถยนต์ขนาดเล็กประเภท L7e ทั้งในส่วนของระบบแบตเตอรี่ ระบบมอเตอร์ ระบบขับเคลื่อน ระบบควบคุม และแผนงานการดัดแปลงยานยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) และการทำให้ไปสู่อุตสาหกรรม (Industrialization) ที่มีการเน้นการสร้างองค์ความรู้ด้านการประกอบ ด้านวิศวกรรม และด้านความปลอดภัยซึ่งถือว่าเป็นจุดต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก แก่ผู้ประกอบการในวงกว้างผ่านการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

แผนงานการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ เน้นไปที่กลุ่มอาหาร พลังงาน ยานยนต์แห่งอนาคต หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตัวอย่างโครงการในกลุ่มนี้ เช่น โครงการสร้างรถบรรทุกไฟฟ้าต้นแบบของคนไทย สถานีอัดประจุไฟฟ้า ศูนย์ทดสอบและบำรุงรักษา เป็นต้น, โครงการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ มุ่งเน้นการพัฒนาการขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ ระบบช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง (Advanced Driver Assistance System: ADAS) ระบบการสื่อสารในรถยนต์ การเชื่อมต่อในยานพาหนะ เป็นต้น ในส่วนแผนงานการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศ เป็นกระบวนการทำวิจัยในการเชื่อมโยงเครือข่ายและความร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศ โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเกษตรกรรม อาหาร การแพทย์ พลังงาน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจหมุนเวียน ยานยนต์แห่งอนาคต หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ซึ่งมีโอกาสอีกมากของหน่วยไทยและเกาหลีใต้ในการร่วมกันพัฒนาโครงการด้านยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และเมืองอัจฉริยะ ภายใต้แผนงานในกลุ่มนี้

ดร.ธนาคาร ได้กล่าวปิดท้ายว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการลงทุนในการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ รถไฟความเร็วสูง ยานยนต์ไฟฟ้า และสถานีอัดประจุไฟฟ้าจำนวนมาก และยังต้องการการพัฒนาทักษะใหม่ๆ ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่และการปรับให้เข้ากับการใช้งานในพื้นที่ และที่สำคัญคือความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการจัดงานขึ้นในครั้งนี้ที่เป็นการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งองค์กรของรัฐมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการอำนวยความสะดวก กระตุ้นให้เกิดกิจกรรมเครือข่ายในการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมความร่วมมือทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ

งานสัมมนาในครั้งนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนในประเด็นที่น่าสนใจอื่นๆ ในอีกหลายหัวข้อ ไม่ว่าจะเป็นโอกาสการลงทุนในประเทศไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้า และเมืองอัจฉริยะ, การอัปเดตโครงการเมืองอัจฉริยะ ยานยนต์ไฟฟ้า สถานีอัดประจุไฟฟ้าในเมืองอัจฉริยะของประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี, บทบาทในการสนับสนุนระบบนิเวศในการลงทุน รวมถึงความก้าวหน้าในโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

Tags:

เรื่องล่าสุด