messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » ผลงานสำคัญของ สอวช. ในปี 2563 มิติที่ 2 : ขับเคลื่อนระเบียบวาระการพัฒนาที่สำคัญตอบยุทธศาสตร์ชาติ

ผลงานสำคัญของ สอวช. ในปี 2563 มิติที่ 2 : ขับเคลื่อนระเบียบวาระการพัฒนาที่สำคัญตอบยุทธศาสตร์ชาติ

วันที่เผยแพร่ 12 สิงหาคม 2021 1553 Views

ในมิติที่ 2 เป็นการทำงานของ สอวช. ในการขับเคลื่อนระเบียบวาระการพัฒนาที่สำคัญตอบยุทธศาสตร์ชาติ ผ่านการสร้างนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ตลอดจนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจนวัตกรรมที่ยั่งยืน สร้างผู้เล่นที่เข้มแข็งในระบบเศรษฐกิจนวัตกรรม โดยมุ่งเพิ่มจำนวนบริษัทฐานนวัตกรรม หรือ IDE (Innovation-Driven Enterprise) ที่มียอดขาย 1,000 ล้านบาท จำนวน 1,000 ราย ภายในปี 2570 ปักหมุดบทบาทของประเทศไทยในอุตสาหกรรมสำคัญแห่งอนาคต ผ่านการเตรียมตัวทางวิชาการ รวมทั้งปัจจัยขับเคลื่อนและปัจจัยสนับสนุน เพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (Gross expenditures on R&D: GERD) ให้ทัดเทียมระดับของประเทศพัฒนาแล้ว โดยเพิ่มเป็น 2% ต่อ GDP ภายในปี 2570 หรือประมาณ 370,000 ล้านบาท รวมถึงสร้างสังคมอยู่ดีมีสุขและลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ผ่านการใช้ข้อมูลเข้มข้นเพื่อขจัดปัญหาให้ตรงจุด

6 ผลงานสำคัญในมิติที่ 2 ประกอบด้วย

1. แพลตฟอร์มการพัฒนาวิสาหกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise: IDE)

สอวช. และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยศูนย์การสร้างผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม (IDE Center) ทดลองนำหลักการของ MIT Regional Entrepreneurship Acceleration Program (MIT REAP) มาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย ซึ่งการทดลองในปีที่ 2 (พ.ศ. 2563) นี้ ได้คัดเลือกผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ จากมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนใน 24 พื้นที่ รวม 205 ราย ร่วมการอบรมแนวคิดการประกอบการนวัตกรรม (IDE Mindset) เริ่มจากการค้นหาปัญหาในท้องถิ่นและพัฒนามาเป็นโอกาสทางการประกอบการหรือเป็นโอกาสในการพัฒนานวัตกรรม การทดลองเชิงนโยบายนี้ยังได้สนับสนุนให้ผู้นำของแต่ละกลุ่มกลับไปผลักดันให้เกิดการสร้างระบบนิเวศทางการประกอบการในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดเป็นแพลตฟอร์มการพัฒนาผู้ประกอบการนวัตกรรมที่ยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป

2. โมเดลเศรษฐกิจ BCG

โมเดลเศรษฐกิจ BCG คือการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกันคือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน

หลังการจัดทำสมุดปกขาว BCG เมื่อปี 2561 สอวช. ขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจ BCG อย่างต่อเนื่องโดยผลักดันให้ข้อเสนอดังกล่าวเป็นแนวทางในการให้ทุนของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) มีโครงการริเริ่มขนาดใหญ่ เช่น Clinical Research Organization ชุดทดสอบ RT-PCR Covid-19 และการสกัด Xanthone เปลือกมังคุดอินทรีย์ระดับอุตสาหกรรม นอกจากนี้ สอวช. ยังได้ร่วมสนับสนุนการจัดทำข้อเสนอ BCG in Action : The New Sustainable Growth Engine โมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นข้อเสนอที่เกิดจากการร่วมทำงานกับเครือข่ายเพื่อรวบรวมข้อเสนอเกี่ยวกับ กฎระเบียบ โครงสร้าง มาตรการจูงใจ ตามแผนการดำเนินงานด้านเกษตร สุขภาพการแพทย์ พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ ท่องเที่ยวบริการและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดิจิทัลเทคโนโลยี และเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นข้อมูลส่งต่อให้กับ สวทช. ในการหารือร่วมกับภาคเอกชนหรือพัฒนาการทำงานในระยะต่อไป

3. การเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

สอวช. ทำการวิจัยเชิงระบบเพื่อออกแบบโมเดลการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย มุ่งเน้นการขับเคลื่อนมากกว่าการบริหารจัดการของเสียหรือการจัดการขยะ สนับสนุนให้เกิดการสร้างมูลค่าที่เป็นตัวเงินและมูลค่าทางเศรษฐกิจซึ่งจะเกิดจากการออกแบบและปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์หรือกระบวนการทางธุรกิจ นอกจากนี้ เพื่อเติมเต็มระบบนิเวศสำหรับการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนของไทย สอวช. ได้จัดทำข้อเสนอโปรแกรมปักหมุดหรือ Anchor programs เพื่อเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญในการสร้างระบบนิเวศการทำงานและผลักดันให้เกิดการให้ทุนตามโปรแกรมปักหมุดดังกล่าว ผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) จำนวน 4 โปรแกรม ได้แก่ 1) Circular Economy Champion สนับสนุนข้อริเริ่มด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีผลกระทบสูงของภาคเอกชน  2) Circular Economy Platform : พัฒนา Solution Platform เพื่อรองรับผู้เล่นกลุ่มต่าง ๆ ที่หลากหลาย เน้นสร้างขีดดวามสามารถในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เหมาะสมกับความต้องการของผู้เล่นกลุ่มต่าง ๆ 3) Circular Economy R&D การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของอุตสาหกรรม 4) Circular Economy Citizen สร้างคนและตลาดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ในด้านการสร้างแรงผลักดันร่วมกับภาคีเครือข่าย สอวช. แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนร่วมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยได้ร่วมพิธีลงนามเจตนารมณ์ร่วมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน ภายใต้ความร่วมมือ “หมุนเวียนเปลี่ยนโลก” ซึ่งมีภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐและภาคเอกชนร่วมลงนามกว่า 30 แห่ง เพื่อผลักดันแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริง บรรเทาปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเป็นระบบและยั่งยืนบนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจและการบริหารจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ

ผู้สนใจสามารถอ่านเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/CE

4. แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อขจัดความยากจนแบบตรงจุด (Targeted Poverty Eradication)

แนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ อววน. เพื่อขจัดความยากจนแบบตรงจุด ได้นำกลไกสถาบันการศึกษาเข้าไปมีบทบาทในการพัฒนาเชิงพื้นที่ และการขจัดความยากจน โดย สอวช. ได้จัดทำข้อเสนอนโยบายเพื่อสนับสนุนและขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพดังนี้

1) จัดตั้งคณะกรรมการขจัดความยากจนระดับชาติ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกรอบการดำเนินงานการขจัดความยากจนอย่างตรงจุด จัดสรรทรัพยากรและงบประมาณ ปลดล็อคกฎระเบียบต่าง ๆ และสร้างแรงจูงใจกำกับและติดตามการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจน

2) ส่งเสริมบทบาทของเอกชนในการแก้ไขปัญหาความยากจน โดยภาครัฐออกมาตรการสร้างแรงจูงใจ เช่น มาตรการร่วมจ่ายค่าแรง มาตรการเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มาตรการยกเว้นภาษี และการรับรองการประเมิน Environmental Social and Governance (ESG) ของเอกชน เป็นต้น เพื่อสนับสนุนให้เอกชนสามารถมีบทบาทในการขจัดความยากจนอย่างตรงจุด

3) มอบหมายหน่วยงานในสังกัดกระทรวง อว. ดำเนินการขจัดความยากจนในพื้นที่รับผิดชอบตามศักยภาพของหน่วยงานเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 4 ปี รวมทั้งมีนโยบายหรือมาตรการสนับสนุนการลงพื้นที่ขจัดความยากจน เช่น นโยบายให้มหาวิทยาลัยกำหนดการลงพื้นที่เกาะติดครัวเรือนยากจนของอาจารย์เป็นตัวชี้วัด (KPI) ของคณะ การนำผลงานขจัดความยากจนไปใช้ในการพิจารณาเลื่อนเงินเดือนประจำปีและการขอตำแหน่งทางวิชาการได้ การจัดอันดับมหาวิทยาลัย (Ranking) ตามผลการดำเนินงานด้านการขจัดความยากจน และการจัดสรรงบประมาณโดยตรงสำหรับหน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. ในการขจัดความยากจน เป็นต้น

ทั้งนี้ หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. สามารถมีบทบาทในการขจัดความยากจน ดังนี้ ลงพื้นที่ระบุปัญหา โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) จัดสรรทุนให้สถาบันการศึกษาดำเนินงานด้านการขจัดความยากจนอย่างตรงจุดร่วมกับกลไกความร่วมมือในพื้นที่ เพื่อระบุตัวตนและสอบทานครัวเรือนยากจน จัดประเภทคนจน ศึกษารากของปัญหาความยากจนและบริบทครัวเรือนซึ่งจะนำมาสู่การออกแบบแนวทางการขจัดความยากจนอย่างตรงจุด

ต่อยอดจากโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (มหาวิทยาลัยสู่ตำบล) ในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะอาชีพใหม่ (Upskill/ Reskill) โดย สป. อว.ขยายการดำเนินงานโครงการมหาวิทยาลัยสู่ตำบล ให้มีการจัดฝึกอบรม บ่มเพาะพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ สำหรับคนจนขาดโอกาส/อ่อนไหว สร้างโปรแกรมความร่วมมือผลิตนวัตกรรมทั่วถึง (Inclusive Innovation) เชิงพาณิชย์ขึ้นในพื้นที่ระหว่างสถาบันการศึกษาและบริษัทเอกชน เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรห รื อ เ พิ่ ม ศั ก ย ภ า พ ค น จ น ห รื อ ล ด ต ้ น ทุ น ใ น ก า ร ผ ลิ ตโดยอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาคสามารถเป็นศูนย์กลางในภูมิภาคเชื่อมโยงเครือข่าย สร้างกลไกการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วย วทน. เพื่อสร้างธุรกิจในพื้นที่ เชื่อมโยงเครือข่ายและสนับสนุนการออกแบบแนวทางการให้ความช่วยเหลือคนจนให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพเน้นกลุ่มคนจนขาดโอกาส และกลุ่มคนจนอ่อนไหวเป็นหลักโดย สอวช. และอุทยานวิทยาศาสตร์ภูมิภาค ทำหน้าที่ประสานหน่วยงานนโยบายอื่น ๆ เพื่อออกแบบกลไกพัฒนาอุตสาหกรรมให้เกิดเป็นธุรกิจนวัตกรรมในพื้นที่เป้าหมาย แนะนำเครือข่ายเอกชน เช่น สินเชื่อ ตลาด และเทคโนโลยี เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถอ่านเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/Poverty-to-prosperity

5. การพัฒนาระบบองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์เพื่อการพัฒนาประเทศ

สอวช. ได้ริเริ่มการศึกษาวิจัยระบบองค์ความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ เพื่อสำรวจปัญหาการสร้างความรู้และความต้องการของประชาคม และสำรวจโครงสร้างการจัดการความรู้ เพื่อกำหนดเป้าหมายการวิจัยการพัฒนากำลังคน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาคม และประเทศ และจัดทำข้อเสนอการปรับปรุงระบบบริหารจัดการทุน การติดตามและประเมินผลที่ให้ความสำคัญกับทั้งการสร้างคุณค่าและการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัย และงานสร้างสรรค์ รวมทั้งการยกระดับโครงสร้างการจัดการความรู้ด้านสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และศิลปกรรมศาสตร์ให้เชื่อมโยงกับระบบ อววน. ของประเทศ

6. การเพิ่มความสามารถอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคต (Future Mobility Industry)

สอวช. ได้ศึกษาการเพิ่มความสามารถอุตสาหกรรมระบบคมนาคมแห่งอนาคตเพื่อใช้เป็นแนวทางในการกำหนดทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศ เพื่อก่อให้เกิดการลงทุนทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้และการจ้างงานจากธุรกิจ Future Mobility และธุรกิจด้านยานยนต์ที่มีการขับขี่แบบอัตโนมัติ การเชื่อมต่อ การทำให้เป็นไฟฟ้า และการแบ่งปันกันใช้งาน (Autonomous, Connected, Electric, and Shared Vehicles : ACES) นอกจากนี้ สอวช. ได้จัดทำข้อเสนอการพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ (Technology Localization) กระบวนการขอรับทุน เกณฑ์การพิจารณาและคู่มือนักวิจัย ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหาร บพข. และถูกนำไปใช้ในการประกาศเปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อจัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมเป้าหมาย นอกจากนี้ สอวช. ยังได้จัดทำข้อเสนอสมุดปกขาวที่ระบุทิศทางสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและสถานีอัดประจุไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถตัดสินใจเชิงนโยบายบนพื้นฐานของข้อมูลได้

ผู้สนใจสามารถอ่านเอกสารเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/EV-2020

รอติดตามสรุปผลงานของ สอวช. ในปี 2563 ในมิติอื่นๆ ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ สอวช. และสามารถอ่านรายละเอียดผลงานสำคัญของ สอวช. ในปี 2563 มิติที่ 1 : วางนโยบายทิศทางของประเทศ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อการพัฒนา ได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/8511/

ส่วนผู้ที่สนใจอ่านรายละเอียดรายงานประจำปี 2563 ของ สอวช. สามารถติดตามอ่านฉบับเต็มได้ที่ : https://www.nxpo.or.th/th/wp-content/uploads/2021/04/AnnualReport-2563.pdf

Tags:

เรื่องล่าสุด