จะดีแค่ไหนถ้าประเทศไทยมีเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูง มีคุณสมบัติครอบคลุมและสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างหลากหลาย เป็นตัวช่วยสำคัญที่ทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนในประเทศดีขึ้นได้ ช่วยสร้างความสะดวกสบายและแก้ไขปัญหา ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัว อย่างเรื่องสุขภาพ ไปจนถึงเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและความมั่นคงของประเทศ
สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ด้วยการเข้ามาของเทคโนโลยี “ควอนตัม” แล้วเทคโนโลยีนี้คืออะไร สอวช. จะพาทุกคนไปทำความรู้จักพร้อมๆ กัน
ควอนตัม เป็นหลักการที่ลงไปศึกษากับสิ่งที่เล็กมากๆ อยู่ในโลกที่เราไม่คุ้นเคย ลงลึกไปถึงในระดับอนุภาค การที่จะทำความรู้จักหรือทำความเข้าใจได้ จึงต้องเริ่มจากการเปลี่ยนกรอบความคิด เปลี่ยนกระบวนทัศน์ของเราเสียก่อน บทบาทสำคัญของควอนตัมคือการเป็นเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วยปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่แล้ว หรือเทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
เทคโนโลยีควอนตัมยุคแรก หรือเทคโนโลยีควอนตัมรุ่นที่ 1 (ควอนตัม 1.0) ถูกพัฒนาขึ้นมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี เป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้เกิดอุปกรณ์อำนวยความสะดวกมากมายในชีวิตเรา เช่น คอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน เครื่องมือทางการแพทย์ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ใช้สมบัติกลุ่มของอนุภาคหลายตัว ทำให้เกิดประโยชน์จากเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ
ส่วนเทคโนโลยีควอนตัมยุคใหม่ หรือเทคโนโลยีควอนตัมรุ่นที่ 2 (ควอนตัม 2.0) ถูกพัฒนาขึ้นจากองค์ความรู้ทางฟิสิกส์และกระบวนการทางวิศวกรรมศาสตร์ที่ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้สามารถควบคุมและใช้สมบัติเชิงควอนตัมของแต่ละอนุภาค หรือแต่ละสถานะของอนุภาคมาสร้างเป็นเทคโนโลยีควอนตัมยุคใหม่ มีศักยภาพในการวัด คำนวณ ประมวลผล ส่งผ่านและเก็บข้อมูลได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และปลอดภัยมากขึ้น
ซึ่งเทคโนโลยีนี้กำลังถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว และคาดหวังว่าจะกลายเป็นเทคโนโลยีใหม่ เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก ที่สามารถปฏิวัติการพัฒนาเชิงเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม และสังคมได้ในอนาคต หลายบริษัท หลายองค์กร และหลายประเทศจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีนี้
ความสามารถและประโยชน์มีมากขนาดนี้ เรามาดูกันดีกว่าว่า ผลกระทบของเทคโนโลยีควอนตัมต่อประเทศไทย ทั้ง 7 ด้าน มีอะไรบ้าง!?
1. ด้านความมั่นคง
เทคโนโลยีควอนตัมจะเข้ามาสร้างความมั่นคงในเชิงความปลอดภัยของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทางการทหาร ยุทธศาสตร์ชาติ หรือข้อมูลในเชิงธุรกิจ ช่วยยกระดับการรักษาข้อมูลส่วนบุคคล ทั้งในด้านการสื่อสาร การเงินการธนาคาร และการทำธุรกรรมผ่านอินเทอร์เน็ต เพราะการสื่อสารเชิงควอนตัมสามารถปกป้องข้อมูลให้เป็นความลับผ่านการเข้ารหัสเชิงควอนตัมที่จะไม่สามารถโจรกรรมได้
2. ด้านเศรษฐกิจ
เทคโนโลยีควอนตัมเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มีราคาสูงมากและปัจจุบันยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ประเทศไทยจึงมีโอกาสในการเป็นผู้ผลิตได้ หากสามารถผลิตชิ้นงาน ผลิตบางส่วนของเทคโนโลยีนี้ได้เอง ก็จะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดการเสียเปรียบทางการค้า อีกทั้งยังช่วยดึงดูดแหล่งทุน และทรัพยากรบุคคลเข้าประเทศด้วย
3. ด้านสาธารณสุข
การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีควอนตัมในทางการแพทย์ จะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น เพราะเทคโนโลยีนี้จะเป็นพื้นฐานในการผลิตเครื่องมือแพทย์ มีคุณสมบัติในการวัดและวิเคราะห์ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว นอกจากนี้ยังช่วยคิดค้นยาที่เหมาะสมกับโรคได้ในเวลาที่สั้นลง ทำให้ต้นทุนการผลิตลดลง ประชาชนจะเข้าถึงการรักษาพยายาลได้ทันเวลา โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง
4. ด้านสังคม
เทคโนโลยีควอนตัมจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การจราจร การจัดการน้ำ ถ้าประเทศไทยสามารถเป็นผู้ผลิตเองได้ จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ด้วย เช่น เกษตรกรใช้เทคโนโลยีควอนตัมในการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร ได้รับบริการสาธารณสุขที่เหมาะสม นอกจากนี้ยังช่วยสร้างโอกาสทางอาชีพใหม่ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น นักเขียนโปรแกรมภาษาควอนตัม นักแปลภาษาควอนตัม เป็นต้น
5. ด้านการศึกษา
เทคโนโลยีควอนตัมจะช่วยกระตุ้นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ พัฒนาทักษะกระบวนการคิดของผู้เรียน ส่งผลให้สังคมไทยเป็นสังคมที่มีเหตุผล ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์ในการดำรงชีวิตมากขึ้น เทคโนโลยีควอนตัมทำให้เกิดพัฒนาการของการศึกษา เชื่อมโยงกับมาตรฐานโลก กระตุ้นการยกระดับการศึกษาของประเทศไทยให้มีคุณภาพสูงขึ้น
6. ด้านสิ่งแวดล้อม
สามารถประยุกต์ใช้เพื่อแก้ปัญหาได้ เช่น เครื่องควอนตัมคอมพิวเตอร์ใช้ทำนายผลกระทบของสารเคมีต่อปัญหาโลกร้อนได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น เกิดการวางแผนการใช้สารเคมี หรือทรัพยากรต่างๆ ได้ตรงเป้าหมายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เทคโนโลยีการคำนวณหรือการจำลองเชิงควอนตัมยังช่วยปรับปรุงการทำปุ๋ยให้ประหยัดพลังงาน ลดของเสียและมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
7. ด้านความร่วมมือกับประชาคมโลก
เนื่องจากเทคโนโลยีควอนตัมมีความหลากหลายมาก ประเทศใดประเทศหนึ่งไม่สามารถเป็นเจ้าของได้เพียงผู้เดียว ต้องมีการร่วมมือกันในระดับนานาชาติ เพื่อยกระดับการศึกษาและเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยสามารถมีบทบาทในการกำหนดค่ามาตรฐานทางมาตรวิทยาด้วยควอนตัมให้ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติได้
จะเห็นได้ว่าการเข้ามาของเทคโนโลยีควอนตัมนั้นจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่ให้กับการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีของประเทศไทย เราทุกคนจึงควรเริ่มศึกษาและให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีนี้ ที่มีโอกาสจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเราได้ในอนาคต
สอวช. เอง ก็ให้ความสำคัญและอยู่เบื้องหลังการสร้างสรรค์นโยบายเพื่อเตรียมพร้อมอนาคต ผ่านการออกแบบแผนงานวิจัย Frontier Research ของประเทศไทยตั้งแต่ระยะตั้งไข่จนถึงปัจจุบันที่ได้มีการจัดสรรงบประมาณวิจัยในด้านนี้แล้ว และการวิจัยขั้นแนวหน้า ได้รับการบรรจุเป็นวัตถุประสงค์หนึ่งของการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กองทุน ววน.) และเป็นแผนงานสำคัญของนโยบายและยุทธศาสตร์ อววน. และแผนด้าน ววน. พ.ศ. 2563 – 2570 ภายใต้ 3 โปรแกรมคือ โปรแกรมที่ 5 ส่งเสริมการวิจัยขั้นแนวหน้าและการวิจัยขั้นพื้นฐานที่ประเทศไทยมีศักยภาพ โปรแกรมที่ 6 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัยที่สำคัญ และโปรแกรมที่ 16 แผนงานโครงการพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือนานาชาติเพื่อการยกระดับความเป็นเลิศของมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัย โดยมี “หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.)” เป็นหน่วยหลักในการบริหารและจัดการทุนของแผนงานการวิจัยขั้นแนวหน้าฯ
ขอบคุณข้อมูลจาก: แผนที่นำทางการพัฒนาเทคโนโลยีควอนตัมของประเทศไทย พ.ศ.2563 – 2572