ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ประกาศหนุนสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในการสร้างกำลังคนสมรรถนะสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ รวม 20,000 คนต่อปี มอบสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และสภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ดำเนินการ พร้อมมอบหมายสำนักปลัดกระทรวง อว. และ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดทำแพลตฟอร์มจับคู่ความต้องการกำลังคนกับบีโอไอแบบบริการครบจบที่เดียว (One Stop Service) หวังเป็นหนึ่งกลไกช่วยดึงดูดบริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนในประเทศ พร้อมปลดล็อกทุกข้อจำกัดในการสร้างกำลังคนให้ทันตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยต่อเรื่องดังกล่าวว่า ปัจจัยการดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนจากต่างประเทศนอกจากเรื่องความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน แรงจูงใจด้านสิทธิประโยชน์ต่างๆ แล้ว เรื่องกำลังคน โดยเฉพาะกำลังคนสมรรถนะสูงในด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ นับเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการดึงดูดนักลงทุน ซึ่งที่ผ่านมา อว. ไม่ได้นิ่งเฉย มีความพยายามสร้างการระบบพัฒนากำลังคนรองรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการเพิ่ม พัฒนาทักษะ (Reskill/Upskill) การให้สถานประกอบการร่วมจัดการศึกษา (WiL) รวมถึงทำเรื่อง Industrial Training Center (ITC) ด้วย แต่การผลิตกำลังคนต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม นอกจากแนวทางการสนับสนุนการผลิตกำลังคนแบบเดิม เราต้องคิดใหม่ ทำใหม่ และต้องทำให้ดีกว่าเดิม โดยนำกลไกการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) เข้ามาช่วย เช่น เดิมกว่าจะเรียนจบหลักสูตรต้องใช้เวลา 4 ปี ซึ่งไม่ทันต่อความต้องการของอุตสาหกรรมแน่นอน ลองมาปรับหลักสูตรใหม่เป็นหลักสูตรเฉพาะแบบเร่งรัดเข้มข้นและมีมาตรฐานที่รองรับแต่ใช้ระยะเวลาเรียนแค่ 2-3 ปีแทน ลักษณะนี้จะเป็นแนวทางที่ตอบโจทย์มากกว่า เป็นต้น
“การพัฒนากำลังคนตามความต้องการของอุตสาหกรรมเพื่อส่งเสริมการลงทุน ได้รับข้อมูลจากบีโอไอว่า นักลงทุนมีความต้องการกำลังคนสมรรถนะสูงด้านวิศวกรรมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ เป็นจำนวนมาก ท่านรัฐมนตรีกระทรวง อว. จึงได้มอบหมายให้สภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และสภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย ดำเนินการผลิตกำลังคนตามความต้องการให้ได้อย่างน้อย 20,000 คนต่อปี แบ่งเป็น ด้านวิศวกรรมศาสตร์ 10,000 คน และด้านวิทยาศาสตร์ 10,000 คน และได้ให้ สป.อว. ร่วมกับ สอวช. ทำแพลตฟอร์มเพื่อพัฒนากำลังคนรองรับในรูปแบบ One Stop Service ที่จะอำนวยความสะดวกในการจับคู่ความต้องการกำลังคนของนักลงทุน กับนักศึกษาที่มีทักษะตรงความต้องการ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกันแบบตรงเป้า และไม่ให้เกิดข้อจำกัดในการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศด้านกำลังคนต่อไป” ดร.กิติพงค์ กล่าว
สำหรับแพลตฟอร์มผลิตกำลังคนเพื่อรองรับการลงทุน ซึ่งจะมีการดำเนินงานร่วมกับ สป.อว. ว่า รูปแบบของแพลตฟอร์มจะเป็นการให้บีโอไอสามารถเชื่อมโยงความต้องการของนักลงทุนมาที่สถาบันอุดมศึกษา โดยจัดทำเป็นแผนความต้องการบุคลากรของนักลงทุน ที่ระบุความต้องการด้านสาขา ทักษะ และจำนวน ขณะเดียวกันทาง อว. ก็จะมีข้อมูลนักศึกษาระดับอุดมศึกษาแบบรายสาขา จำนวน พร้อมระบุสถาบันอุดมศึกษาที่ผลิตแต่ละสาขา จากนั้นแพลตฟอร์มนี้จะช่วยจับคู่ความต้องการของนักลงทุนกับข้อมูลนักศึกษาที่ อว. มีอยู่ ซึ่งสภาคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และสภาคณบดีวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย จะทำหน้าที่ช่วยในการผลิตนักศึกษาให้ตรงตามความต้องการ เพื่อเตรียมความพร้อมของกำลังคน ทั้งในรูปแบบร่วมกับภาคอุตสาหกรรมในการพัฒนาหลักสูตรการศึกษา การสนับสนุนการฝึกปฏิบัติงาน (WiL) การ Upskill/Reskill รวมถึงการใช้กลไกการจัดการศึกษาที่แตกต่างจากมาตรฐานการอุดมศึกษา (Higher Education Sandbox) เข้ามาช่วย เป็นต้น