สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และสถาบันนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จัดการฝึกอบรมระยะสั้น ผ่านระบบออนไลน์ ระหว่างวันที่ 6-23 กันยายน 2564 เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านนโยบายโดยเฉพาะนโยบายด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ตลอดจนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศ อาทิ นโยบายการพัฒนากำลังคน และนโยบายการศึกษา ทำให้บุคลากรมีความรู้และมีพื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์และความคิดเห็น สำหรับการบรรยายในหลักสูตรนโยบายการพัฒนากำลังคนและการศึกษาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ (Manpower & Education Policy for National Development) ในหัวข้อ “อดีต-ปัจจุบัน-อนาคตของการเรียนรู้ระดับอุดมศึกษาของประเทศ” ได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.บัณฑิต ทิพากร รองอธิการบดีอาวุโสฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นผู้บรรยาย โดยมีผู้เข้าร่วมอบรมจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชนกว่า 30 คน
รศ.ดร.บัณฑิต เล่าให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของการศึกษาที่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของสังคม โดยมีหลักสำคัญคือการพัฒนากำลังคน เพื่อตอบสนองให้กำลังคนออกไปทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคม ดังนั้นเมื่อสังคมเปลี่ยน ความต้องการก็จะเปลี่ยนตาม เมื่อมองย้อนกลับไป การศึกษาเริ่มขึ้นมาตั้งแต่ยุคกลาง มหาวิทยาลัยในอดีตอยู่ในรูปแบบสังคมของนักปราชญ์ (Society of Scholar) ส่วนใหญ่จะมาอยู่รวมกันเพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ต่อมาเมื่อคนอื่นอยากเรียนรู้ด้วยจึงถูกเปลี่ยนมาเป็นมหาวิทยาลัย (University) ในช่วงแรกเน้นการสอนแบบ Liberal arts สอนแบบอิสระ ไม่ยึดติดกับสิ่งใด แบ่งเป็นทักษะที่ถ่ายทอดได้ (The Trivium) จำพวกไวยากรณ์ ตรรกะ สำนวน และอีกส่วนในเรื่องตัวความรู้ (The Quadrivium) จำพวกคณิตศาสตร์ เรขาคณิต ดาราศาสตร์ และดนตรี ซึ่งทั้งทักษะและความรู้เป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่กันไป
เมื่อเวลาผ่านไป มหาวิทยาลัยมีการปรับเปลี่ยนตัวเอง มหาวิทยาลัยในยุคกลางช่วงปลายเริ่มมีการแบ่งเป็นคณะ (faculty) แต่การจัดการเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังเป็นการศึกษาแบบเสรีทั่วไป สอนให้เป็นคนรอบรู้ สามารถปรับตัวเองในการทำงานได้เก่ง แต่ไม่มีความรู้เฉพาะทาง เป็นกลุ่มที่ทำงานได้หลากหลายบทบาท เมื่อเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม เริ่มเกิดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขึ้น มีวิศวกร มีการสร้างเทคโนโลยีให้คนใช้ เริ่มมีความรู้ในแขนงอื่นเกิดขึ้นตามมา
เมื่อหันมามองภาพของอุดมศึกษาในประเทศไทย รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า การเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยในไทยเริ่มจากสาขาทางการแพทย์ ต่อมาคือมหาวิทยาลัยที่สร้างข้าราชการ และเริ่มมีการศึกษาเฉพาะทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ มีมหาวิทยาลัยเปิดใหม่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเข้าไปตั้งมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาคของประเทศ หลักสูตรส่วนใหญ่จะสอนตั้งแต่พื้นฐานไปจนถึงระดับสูง สร้างให้เกิดผู้เชี่ยวชาญขึ้น มีการสอนทั้งในเชิงลึกและเชิงกว้าง จุดสำคัญคือการอุดมศึกษาไทยเกิดขึ้นเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ ในช่วงแรกนั้นประเทศไทยอยากให้คนเรียนหนังสือ รู้หนังสือ จึงนำรูปแบบของปริญญาบัตร ประกาศนียบัตรต่าง ๆ เข้ามา และใช้ใบปริญญาบัตรไปประกอบ อาชีพ เมื่อได้ผลการเรียนมา ก็ใช้มาเป็นส่วนประกอบว่าคน ๆ นี้รู้อะไรมาบ้าง แต่ไม่ได้บอกว่ามีความสามารถจริงมากน้อยแค่ไหน ปัญหาสำคัญคือเรามองแค่ผลผลิต เราเพิ่มจำนวน แต่ยังขาดคุณภาพ เราพยายามทำระบบเพื่อให้คนมีปริญญา เน้นไปที่เชิงปริมาณ แต่กลับลืมหลักที่แท้จริงคือการเชื่อมต่อการเรียนและการสอนเข้าด้วยกันเพื่อไปสู่การทำงานในอนาคตอย่างมีประสิทธิภาพ
ในแง่มุมของการเรียนการสอน รศ.ดร.บัณฑิต กล่าวว่า การเสริมสร้างความรู้และทักษะควรไปด้วยกันตลอด โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา เป็นการฝึกให้คนคิดและพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้น โดยการเปลี่ยนความคิดและทัศนคติ ในปี 2542 จึงเกิดการเรียนในรูปแบบที่ให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง มองที่ตัวเด็ก มองการเรียนรู้ของเขาเป็นสำคัญ ดังนั้นประเทศไทยต้องกลับมาคิดว่า ถ้าอยากให้ทุกคนเรียนรู้ได้ ในขณะที่ทุกคนมีขีดความสามารถและศักยภาพไม่เท่ากัน ทำไมเราถึงใช้ระยะเวลา 4 ปีในมหาวิทยาลัยเป็นตัวกำหนดมาตรฐานการศึกษา เพราะถือเป็นการปิดกั้น เป็นระบบการศึกษาที่มีช่องโหว่ ผลักให้มีคนที่หลุดออกไปจากระบบการศึกษาจำนวนมาก ประกอบกับรูปแบบการศึกษาที่เป็นการสอนอย่างเดียว เน้นการบรรยาย การถ่ายทอด แต่ไม่ได้เน้นการใช้ประโยชน์จริง เมื่อจบการศึกษาออกไปทำงานก็ไม่สามารถเติบโตในองค์กรได้มาก เพราะฉะนั้นการศึกษาต้องมีทั้งทักษะความรู้ เสริมสร้างไปพร้อมกับสมรรถะ ซึ่งหมายถึงศักยภาพและขีดความสามารถในการทำงานที่ไม่เคยเห็นมาก่อนได้ ปัจจุบันมีความรู้อย่างเดียวไม่ได้ ต้องรู้และปฏิบัติได้ด้วย ต้องเป็นการ Learn to be และมองไปถึงการ Learn to live together ในอนาคต
“ความรู้ทุกวันนี้ล้าสมัยเร็ว ยิ่งถ้าเป็นความรู้โดยทั่วไป จะไม่สามารถเติบโตได้เลย ถ้าไม่เกิดจากประสบการณ์ที่ออกไปทำอะไรบางอย่าง เราต้องเพิ่มเติมสิ่งอื่นเข้าไป ที่ไม่ใช่ทักษะเชิงฝีมือ แต่ต้องใส่สมรรถนะที่จะเติบโตเองได้ เมื่อออกไปทำงานจริง เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เมื่อก่อนเราเรียนแล้วใช้ปริญญาบัตรตัดสินว่าจะได้อยู่ในตำแหน่งไหนในการทำงาน แต่ถ้าเปลี่ยนมุมมองใหม่ว่าการอุดมศึกษาจะต้องอยู่คู่กับการทำงานตลอดชีวิต ถ้าใครมีความพร้อมเริ่มทำงานตอนไหนก็สามารถทำได้ เพื่อเสริมพื้นฐานประสบการณ์ให้มีมากยิ่งขึ้น และถ้าต้องการความรู้เพิ่มเติมในด้านใด ก็สามารถกลับมาศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้เติบโตในการทำงานไปได้อีก การศึกษาแบบนี้เรียกว่าการศึกษาตลอดชีวิต ในด้านนโยบาย หากมองการศึกษาเป็นกระบวนการ เมื่อเห็นช่องโหว่ตรงไหนจะต้องพัฒนาได้ ส่วนที่สำคัญคือการสร้างรากฐานและโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีความแข็งแรง ในขณะเดียวกันก็ต้องมีความยืดหยุ่น คล่องตัว พร้อมในการปรับตัว อีกส่วนสำคัญคือต้องเปลี่ยนมุมมองว่าการศึกษาไม่ได้ผูกขาดโดยมหาวิทยาลัยอีกต่อไป หากต้องการให้คนทำงานได้ มีทักษะ มีความสามารถ และศักยภาพ บางอย่างอาจเกิดขึ้นได้โดยความร่วมมือกับภาคเอกชนที่มีประสบการณ์มากกว่า” รศ.ดร.บัณฑิต กล่าว
ความท้าทายในปัจจุบันคือการทำให้การศึกษาควบคู่ไปกับการดำเนินชีวิต เป็นการศึกษาตลอดชีวิตให้กับกำลังคน ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายจะไม่จำกัดแค่เด็กที่เรียนจบในภาคการศึกษาปกติ แต่รวมถึงกำลังคนทั่วไปด้วย อีกทั้งต้องหันมาใส่ใจการพัฒนาจากความรู้ให้กลายเป็นสมรรถภาพและสมรรถนะที่จะทำให้กำลังคนนำไปใช้ทำงานได้และมีการเติบโตในสายอาชีพ ต้องมาร่วมกันคิดว่าระบบการศึกษาและหลักสูตรการเรียนการสอนในอนาคตจะต้องปรับปรุงพัฒนาอย่างไรให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเราได้ตลอดชีวิต และสามารถเชื่อมระบบการศึกษากับระบบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ทำให้ภาคการผลิตเชื่อมั่นในภาคการศึกษาว่าสามารถสร้างกำลังคนที่มีศักยภาพได้จริง