(17 กันยายน 2564) ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 7 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .… ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 494 เสียง
นายวรวัจน์ เอื้ออภิญกุล ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. แถลงต่อที่ประชุมว่า ตามที่ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) เมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ได้ลงมติรับหลักการแห่งร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นคณะหนึ่งเพื่อพิจารณา ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้มีการประชุมพิจารณาทั้งสิ้น 9 ครั้ง โดยได้มีการเชิญบุคคลภายนอกมาชี้แจงแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกด้วย โดยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมนั้น เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศในอนาคต และที่ผ่านมารัฐได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่โดยที่ผู้รับทุนหรือนักวิจัยไม่สามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้ด้วยข้อจำกัดด้านกฎหมายและกฎระเบียบของภาครัฐจึงไม่มีการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ ทั้งการต่อยอดการวิจัยและต่อเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวม อีกทั้งเป็นแรงจูงใจให้มีการวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพิ่มขึ้น จึงสมควรกำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่เกิดจากเงินสนับสนุนของภาครัฐได้ มีกลไกการบริหารจัดการและติดตามการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรม ไปใช้ประโยชน์ ตลอดจนกำหนดมาตรการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะ เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างประโยชน์ของผู้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมและประโยชน์ส่วนรวม จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ และบัดนี้ คณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงขอเสนอต่อที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาลงมติในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ซึ่งที่ประชุมได้ลงมติในวาระที่ 3 เห็นชอบให้ประกาศใช้ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนนเสียง 494 เสียง
“คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ขอขอบคุณประชุมร่วมกันของรัฐสภา ที่สนับสนุนร่างกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีการผลักดันกันมาอย่างยาวนาน และเชื่อว่าร่างกฎหมายฉบับนี้จะพลิกโฉมหน้างานวิจัยไทย และเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป” นายวรวัจน์ กล่าว
ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เปิดเผยว่า ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. กระทรวง อว. โดย สอวช. และหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม เป็นผู้ดำเนินการจัดทำและร่วมผลักดันกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นหนึ่งในกฎหมายเพื่อการปฏิรูประบบวิจัย นวัตกรรมของไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของรัฐไปใช้ประโยชน์ และช่วยแก้ปัญหาการตกลงเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยระหว่างหน่วยงานให้ทุนกับผู้รับทุน โดยกำหนดให้ผู้รับทุนสามารถขอเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตนได้สร้างสรรค์ขึ้นได้ และเมื่อหน่วยงานผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่ได้แก่ มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม จะช่วยให้ Startup และ SME สามารถรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้เกิดจำนวน Startup และ SME ที่ใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมได้ อีกทั้งยังช่วยยกระดับงานวิจัยในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัย ผลิตผลงานวิจัยฯ ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคผลิตและบริการ