ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมถือว่ามีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แถมยังเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศให้เดินหน้าไปได้ไกล โดยเฉพาะในด้านเศรษฐกิจ เพราะนวัตกรรมจะเข้ามาช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการเดิมที่มีอยู่ นอกจากนี้ยังมีส่วนช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมดีขึ้นได้อีกด้วย
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการลงทุนวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แต่งานวิจัยเหล่านั้นยังไม่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากเท่าที่ควร ด้วยปัจจัยหลายๆ ด้าน และข้อจำกัดบางประการ
สอวช. มองเห็นความสำคัญของปัญหานี้ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานในระบบวิจัยและนวัตกรรม ผลักดันร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม มาโดยตลอด
และเมื่อวันที่ 17 กันยายน 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. .… โดยที่ประชุมได้ลงมติเห็นชอบให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย ด้วยคะแนน 494 เสียง
วันนี้เรามาทำความรู้จัก ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ว่าจะมีประเด็นและมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง ไปดูพร้อมกันเลย
ทำความรู้จักพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม?
พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรม คือ กฎหมายที่สนับสนุนให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยที่ได้รับทุนจากหน่วยงานของรัฐได้ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือสาธารณประโยชน์ได้อย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมอย่างสหรัฐอเมริกา ก็มีการประกาศใช้กฎหมาย Bayh – Dole Act หรือพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม มาเกือบ 40 ปีแล้ว
เมื่อมองกลับมาที่ประเทศไทยจะพบว่าเรามีผลงานวิจัยและนวัตกรรมมากมายที่ยังไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์มากเท่าที่ควร ด้วยหลายสาเหตุ เช่น การขาดความเชื่อมโยงที่มีประสิทธิภาพระหว่างภาครัฐ เอกชนและมหาวิทยาลัย การลงทุนวิจัยที่กระจัดกระจายเป็นโครงการขนาดเล็กในหลายหน่วยงาน การขาดโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ รวมไปถึงการขาดแคลนบุคลากรระดับนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญประสบการณ์สูง และการขาดแคลนความรู้ระดับต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังมีข้อจำกัดบางประการ ที่ทำให้ผู้ทำวิจัยขาดแรงจูงใจในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ และขาดกฎหมายและระเบียบที่เอื้อต่อการสร้างผลงานวิจัยและการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยและนวัตกรรมของรัฐไปใช้ประโยชน์ แก้ปัญหาเรื่องสิทธิความเป็นเจ้าของผลงานวิจัยระหว่างหน่วยงานให้ทุนกับผู้รับทุน และเมื่อหน่วยงานผู้รับทุน ซึ่งส่วนใหญ่เป็น มหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัย ได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม จะช่วยให้ Startup และ SME สามารถรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย และสถาบันวิจัยได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น ส่งผลช่วยให้เกิดจำนวน Startup และ SME ที่ใช้เทคโนโลยีในการประกอบธุรกิจ ซึ่งจะกระตุ้นให้เกิดระบบเศรษฐกิจนวัตกรรมได้
นอกจากนี้ ยังช่วยยกระดับงานวิจัยในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัยของรัฐ โดยเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันวิจัยและนักวิจัย ผลิตผลงานวิจัยฯ ที่มีคุณภาพ ตอบโจทย์ความต้องการของภาคผลิตและบริการ เพื่อให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางพร้อมมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูง
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมมีอะไรบ้าง?
1. กำหนดให้บังคับใช้เฉพาะกับการให้ทุนของหน่วยงานของรัฐที่มีวัตถุประสงค์ หรืออำนาจหน้าที่ในการให้ทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม ยกเว้นการวิจัยและนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการปฏิบัติงานตามหน้าที่และอำนาจของหน่วยงานรัฐ คนต่างด้าวซึ่งไม่มีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไทย เว้นแต่สภานโยบายประกาศกำหนดเป็นรายกรณี การวิจัยและนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธยุทโธปกรณ์ การวิจัยและนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติหรือประชาชนชาวไทยโดยรวมหรือจะต้องใช้เป็นพื้นฐานสำคัญของการวิจัยอื่นซึ่งไม่สมควรให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของบุคคลใดหรือองค์กรใดเป็นการเฉพาะ
2. กำหนดให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยสามารถเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐได้ รวมทั้งกำหนดหน้าที่ในการบริหารจัดการและการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ การจัดสรรรายได้จากการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ และกลไกของหน่วยงานภาครัฐในการติดตามและประเมินผลการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรม
3. กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้รับทุนหรือนักวิจัย ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรม จะต้องใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมและบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม และรายงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม
4. กำหนดหลักเกณฑ์ในการโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมของผู้รับทุน หรือนักวิจัยซึ่งเป็นเจ้าของผลงานให้แก่บุคคลอื่น และกำหนดหน้าที่ของผู้รับโอนผลงานวิจัยและนวัตกรรมในการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้
5. กำหนดให้ผู้ที่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรม สามารถขออนุญาตใช้ประโยชน์ได้โดยเสนอเงื่อนไขและค่าตอบแทนที่เพียงพอตามที่เห็นสมควร
6. กำหนดให้อำนาจนายกรัฐมนตรีโดยอนุมัติคณะรัฐมนตรีในการออกคำสั่ง ให้หน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานที่ได้รับมอบหมาย ใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมใดๆ ที่เกิดจากทุนสนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมของรัฐ
นอกจากนี้ เมื่อได้เป็นเจ้าของผลงานวิจัยและนวัตกรรมแล้ว เจ้าของมีหน้าที่ใช้ประโยชน์ภายใน 2 ปี (หรือระยะเวลาอื่นตามที่กำหนด) นับจากวันที่เป็นเจ้าของ หากไม่ใช้ภายใน 2 ปี ผู้ให้ทุนจะแจ้งเตือนก่อน หากต้องการใช้ประโยชน์ต่อไป เจ้าของ ผลงานอาจยื่นคำขอ และแสดงหลักฐานความพยายามการใช้ประโยชน์ต่อผู้ให้ทุน เพื่อขอขยายเวลาได้ตามสมควร แต่หากยังไม่มีการนำไปใช้ประโยชน์อีก ผลงานวิจัยนั้นจะกลับมาเป็นของผู้ให้ทุน
กรณีในภาวะสงคราม ภาวะฉุกเฉิน กรณีจำเป็นเพื่อความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ หรือความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะอื่น คณะรัฐมนตรีอาจมีคำสั่ง ให้หน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมได้
การบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม
สำหรับผลงานวิจัยที่อยู่กับหน่วยงานของภาครัฐ ผู้ให้ทุนมีหน้าที่รายงานผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ตนเป็นเจ้าของ รวมถึงการใช้ หรือไม่ใช้ประโยชน์ผลงานนั้นต่อ กสว. แต่หากเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ กสว. มีอำนาจสั่งให้โอนหรืออนุญาตให้บุคคลใดใช้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมภาครัฐก็ได้
กรณีที่โอนผลงานวิจัยให้ผู้รับทุนหรือนักวิจัยแล้ว เจ้าของผลงานมีหน้าที่บริหารจัดการและรายงานการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและ นวัตกรรมตามระเบียบที่ กสว. กำหนด รวมไปถึงการจัดสรรรายได้ที่ได้รับให้แก่นักวิจัย และในกรณีมหาวิทยาลัย จะต้องนำรายได้ส่วนหนึ่งไปใช้เพื่อการพัฒนางานวิจัยต่อ
สำหรับการโอนผลงานนั้น ต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ให้ทุนก่อน เว้นแต่เป็นการโอนให้แก่นิติบุคคลที่ได้รับมอบหมายให้บริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรม ทั้งนี้ ผู้ให้ทุนหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายยังสามารถใช้ผลงานเพื่อการศึกษา วิจัยและพัฒนาต่อไปได้
นอกจากนี้ กสว. ยังมีหน้าที่จัดสรรเงินกองทุน ววน. เพื่อส่งเสริมเทคโนโลยีที่เหมาะสม และสภานโยบาย โดยข้อเสนอของ กสว. มีหน้าที่กำหนดหน่วยงาน วิธีการส่งเสริมและสนับสนุนการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมไปใช้ประโยชน์ รวมไปถึงการกำหนดให้มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์แก่นักวิจัยที่ดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีที่เหมาะสมอีกด้วย
นอกจากร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์งานวิจัยและนวัตกรรมฉบับนี้แล้ว ยังมีการดำเนินการจัดทำกฎหมายลูกที่จำเป็นอีกประมาณ 14 ฉบับ รวมทั้งผลักดันมาตรการอื่นๆ ที่สำคัญอีกด้วย นับเป็นอีกหนึ่งข่าวดีสำหรับประเทศไทย ที่จะได้นำงานวิจัยและนวัตกรรมมาใช้ประโยชน์ และเป็นโอกาสดีที่ผู้ได้รับทุนจะได้นำผลงานเหล่านั้น ไปต่อยอดจนเกิดธุรกิจนวัตกรรม ที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลางพร้อมมุ่งสู่การเป็นประเทศรายได้สูงได้ในที่สุด