messenger icon
×
หน้าหลัก » ข่าวประชาสัมพันธ์ » สอวช. จับมือ มรภ. 38 แห่ง ลงนามความร่วมมือพัฒนานโยบายส่งเสริมมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ด้าน องคมนตรี เน้นย้ำทำแผนให้เป็นรูปธรรมสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ และอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเอง

สอวช. จับมือ มรภ. 38 แห่ง ลงนามความร่วมมือพัฒนานโยบายส่งเสริมมหาวิทยาลัยราชภัฏ ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ด้าน องคมนตรี เน้นย้ำทำแผนให้เป็นรูปธรรมสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ และอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเอง

วันที่เผยแพร่ 2 ธันวาคม 2021 1024 Views

(29 พฤศจิกายน 2564) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนานโยบายและข้อริเริ่ม เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ผ่านระบบออนไลน์ โดยวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนานโยบาย กลไก มาตรการ และข้อริเริ่มสำคัญ รวมถึงขับเคลื่อนในการส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนามหาวิทยาลัยราชภัฏให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และทรัพยากรมนุษย์ของประเทศ อีกทั้งยังเป็นการพัฒนายุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ และแนวทางการขับเคลื่อนที่เหมาะสมกับบริบทของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ 38 แห่ง และมหาวิทยาลัยราชภัฏในระดับกลุ่มภูมิภาค

พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี ได้ให้เกียรติเป็นประธานกิตติมศักดิ์ พร้อมกล่าวเปิดพิธีลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ โดยกล่าวว่า มีความยินดีและขอบคุณที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ให้การส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนายุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการ และแนวทางการขับเคลื่อนของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ นอกจากนี้ ได้ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมในการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Action Plan) โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการทำงานเชื่อมโยงและบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ครอบคลุมถึงหน่วยงานในกระทรวงอื่น ๆ เนื่องด้วยภารกิจตามกฏหมายของมหาวิทยาลัยราชภัฏในการพัฒนาท้องถิ่นนั้นมีความจำเป็นต้องประสานประโยชน์ความร่วมมือกับหลายหน่วยงานจึงจะส่งผลต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสังคม สิ่งแวดล้อม และการศึกษาในพื้นที่อย่างแท้จริง ซึ่งแนวคิดในการจัดทำแผนปฏิบัติการฉบับสมบูรณ์ ควรใช้การอธิบายให้ชัดเจนว่าต้องการดำเนินงานไปในทิศทางใด นอกจากนี้ องคมนตรี ยังได้ฝากถึงการให้ความสำคัญในกระบวนการผลิตครูที่เป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏ และการยกระดับคณะอื่นๆให้รองรับสภาวการณ์ปัจจุบัน พร้อมย้ำถึงการสร้างความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของการพัฒนา soft skills ด้วยกระบวนการวิศวกรสังคมด้วย

“การจัดทำแผนทั้งหมดต้องจริงจัง เต็มที่ เพื่อให้แผนที่ได้มานั้นนำไปปฏิบัติได้จริง เดินหน้าได้จริง ต้องให้ความสำคัญกับรายละเอียดตั้งแต่เริ่มจัดทำแผน โดยเฉพาะการทำแผนในระยะเวลา 5 ปี ถ้าแผนนี้ชัดเจน แผนที่จะดำเนินงานในแต่ละปีก็จะชัดเจนขึ้นด้วย อีกทั้งการจัดทำแผน ต้องระดมความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรอบด้าน และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ ต้องนึกถึงสารตั้งต้นในการจัดทำแผนว่ามีอะไรบ้าง เช่น กรอบวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏ พระบรมราโชบายด้านการศึกษา หรือยุทธศาสตร์ 20 ปี และอิงข้อมูลจากท้องถิ่นหรืออัตลักษณ์ของเราเป็นหลัก” พลเอกดาว์พงษ์ กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือนี้เป็นสิ่งที่ช่วยย้ำให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทั้ง 38 แห่ง เห็นว่ารัฐบาลให้ความสำคัญกับบทบาทและภารกิจของมหาวิทยาลัยราชภัฏในการร่วมทำงานตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ซึ่งในการทำแผนนั้นคณะทำงานต้องเข้าไปคุยกับผู้นำองค์กรตั้งแต่ระดับสูง ระดับกลาง รวมถึงระดับผู้ปฏิบัติงาน และจะดีมากขึ้นไปอีกหากได้เข้าไปคลุกคลี เข้าไปร่วมประชุม ไปเห็นการทำงานของมหาวิทยาลัย

“การทำแผน คือการเขียนแผนเพื่อจะชนะ ผู้เขียนแผนต้องไปคิดว่าจะชนะได้อย่างไร โดยทำให้จริงจังมากขึ้นด้วยการเติมเป้าหมายสำคัญเข้าไป ตัวอย่างเช่น ภายในปี 2580 หรืออีก 16 ปีข้างหน้า ต้องทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วให้ได้ และภายในปี 2570 กระทรวง อว. รวมถึงมหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องอยู่ในระดับของประเทศพัฒนาแล้ว มหาวิทยาลัยราชภัฏ ต้องไปช่วยกันคิดว่าภายในปี 2570 เราจะทำอะไรไปถึงขั้นไหน จะทำให้ไปสู่ประเทศการเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏในประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างไร โดยในบรรดามหาวิทยาลัยทั้งหมด มหาวิทยาลัยราชภัฏมีบทบาทในการพัฒนาตั้งแต่ระดับจังหวัด ระดับภาค ระดับเทศบาล ระดับพื้นที่ ต้องระดมสรรพวิชาความรู้ลงไปให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ และเมื่อมีตัวชี้วัดที่ชัดเจนก็ทุ่มเทตรงนี้เพื่อไปถึงชัยชนะให้ได้ มหาวิทยาลัยราชภัฏต้องเห็นศักยภาพของตัวเอง การรบชนะไม่ใช่เพื่อตัวเอง แต่เพื่อให้ประเทศก้าวต่อไปได้ด้วย” รมว. อว. กล่าว  

ในขณะที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์จรูญ ถาวรจักร์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏทุกแห่ง มียุทธศาสตร์กลางในการดำเนินงาน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1) การพัฒนาท้องถิ่น 2) การผลิตและพัฒนาครู 3) การยกระดับคุณภาพการศึกษา และ 4) การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ โดยมหาวิทยาลัยราชภัฏได้บูรณาการพันธกิจตามยุทธศาสตร์นี้ ให้สอดรับกับโจทย์ใหญ่ของประเทศ ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากแผนการดำเนินงานตามโครงการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ ระยะ 5 ปี โดยได้ดำเนินการจัดกิจกรรม 3 กิจกรรม ประกอบด้วย 1) กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 2) กิจกรรมมอบนโยบายและทิศทางการจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Action Plan) มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ และ 3) กิจกรรมประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) การจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏ ที่จัดครั้งแรกในเดือนตุลาคม พ.ศ.2564 และจะมีต่อเนื่องไปจนถึงเดือนมีนาคม พ.ศ.2565

ด้าน ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. กล่าวว่า การดำเนินการจัดทำจัดทำแผนปฏิบัติการเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Action Plan) ของกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฎ ที่ผ่านมาได้ยึดเอาสารตั้งต้นที่ครบถ้วนตามที่ท่านองคมนตรีได้กล่าวถึง และเพิ่มเติมแนวคิดการพัฒนาจากผู้ทรงคุณวุฒิที่เกี่ยวข้อง โดยก่อนเริ่มการประชุมเชิงปฏิบัติการ สอวช. ได้มีการลงพื้นที่ ดูงานที่มหาวิทยาลัยราชภัฏมาโดยตลอด เพื่อให้ได้ข้อมูลเบื้องต้นสำหรับนำมาสังเคราะห์ให้เห็นภาพการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อตอบโจทย์ที่สำคัญของประเทศ ตามอัตลักษณ์ความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง พร้อมทั้งพิจารณาปัจจัยความเสี่ยงของโลกร่วมด้วย

ทั้งนี้ จากการประชุมเชิงปฏิบัติการที่ผ่านมา 2 ครั้ง มีประเด็นสำคัญในแต่ละยุทธศาสตร์ที่จะขับเคลื่อน อาทิ ในยุทธศาสตร์ที่ 1 การพัฒนาท้องถิ่น คือการต่อยอดวิศวกรสังคมไปสู่การพัฒนาชุมชน มีแนวทางการจัดทำ Community Innovation Zone ส่งเสริมนวัตกรรมในระดับพื้นที่ การดึงเอาจุดแข็งของมหาวิทยาลัย ร่วมมือกับภาคเอกชน ชุมชน พัฒนาคุณภาพโรงเรียนแบบไตรภาคี รวมทั้งมีการเสนอ Community Based Green Economy เป็นแพลตฟอร์มของมหาวิทยาลัยราชภัฏร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ในยุทธศาสตร์ที่ 2 การผลิตและพัฒนาครู มองถึงเรื่อง Teacher System Reform, การพัฒนาสมรรถนะและคุณภาพครู และการวิจัยด้านการศึกษา ในยุทธศาสตร์ที่ 3 การยกระดับคุณภาพการศึกษา มองถึงการยกระดับ Soft Skill นักศึกษาและบัณฑิต, การพัฒนาหลักสูตรที่คำนึงถึงอาชีพในอนาคต และการเติบโตของเศรษฐกิจในท้องถิ่น, การจัดการศึกษาร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยและผู้ประกอบการแบบ Co-Creation, การเชื่อมโยงกับนานาชาติ, และการขับเคลื่อนให้มหาวิทยาลัยตอบโจทย์การเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง และในยุทธศาสตร์ที่ 4 การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบงบประมาณ กฎ ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ รวมถึงการขับเคลื่อนสู่ Digital University เชื่อมโยงไปถึงเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน และระบบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบ National Credit Bank ซึ่งการดำเนินการในขั้นตอนต่อไป ในแต่ละยุทธศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจะต้องเข้าไปดูว่าหากจะตอบโจทย์นั้นได้ ต้องมีการออกแบบแผนงานเชิงยุทธศาสตร์อย่างไร เพื่อเป็นตัวตั้งต้นในการทำงานต่อในระดับภูมิภาค ซึ่ง สอวช. จะช่วยส่งเสริมให้มีการบูรณาการและมีการขับเคลื่อนร่วมกันอย่างต่อเนื่อง

Tags: #มรภ

เรื่องล่าสุด