ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดรายการพูดคุยผ่านช่องทางออนไลน์ ในรายการ Future Talk by NXPO ครั้งที่ 7 ในประเด็น “COP26 กับแนวทางของไทย ผนึก รัฐ – เอกชน จับมือลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” หลังจากมีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 หรือ COP 26 ที่ผู้นำประเทศทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเป้าหมายและความท้าทายในการดำเนินการเกี่ยวกับการลดผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยรายการในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม (สผ.) ในฐานะหน่วยงานกลางของประเทศ ภายใต้กรอบอนุสัญญา COP26 และ ดร. บุตรา บุญเลี้ยง Head of Technology Strategy and Portfolio Management บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด มาร่วมพูดคุย ดำเนินรายการโดย ดร. กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช.
ดร. พิรุณ กล่าวถึงเป้าหมายหลักสำคัญในความตกลงปารีส หรือ Paris Agreement คือการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกินกว่า 2 องศาเซลเซียส และมุ่งเป้าไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งในการประชุม COP ที่ผ่านมาแต่ละครั้ง ตั้งแต่ความตกลงปารีสมีผลบังคับใช้ พบว่าสิ่งที่ 197 ประเทศภาคีสมาชิกดำเนินการ ยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้เป็นไปตามเป้าหมายได้ การประชุมครั้งล่าสุดคือ COP26 จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยสหราชอาณาจักรที่เป็นประธานการประชุม ได้กำหนดธงในการประชุมครั้งนี้ไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) ทำอย่างไรให้ทุกประเทศสมาชิกยกระดับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้อุณหภูมิของโลกต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และเข้าใกล้หรือถึง 1.5 องศาเซลเซียส 2) การปรับตัวเพื่อรองรับผลกระทบจากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น และภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และ 3) กลไกการสนับสนุนทางการเงิน เทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ ที่จะต้องมีการเปลี่ยนผ่านกันระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา
ในการประชุมครั้งนี้ยังมีข้อตัดสินใจของการประชุมที่ถูกกำหนดขึ้นเรียกว่า Glasgow Climate Pact โดยมีเรื่องที่พูดคุยกัน อาทิ การยกระดับเป้าหมายเพื่อปรับปรุง Nationally Determined Contributions: NDCs หรือการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด โดยแต่ละประเทศต้องเพิ่มเป้าหมายให้ท้าทายขึ้น มีการพูดถึงทิศทางที่การลดก๊าซเรือนกระจก การสนับสนุนทางการเงิน Long-term Climate Finance รวมถึงการเร่งรัดให้ส่งแผนการปรับตัวแห่งชาติ หรือ Adaptation Communication เพื่อสื่อสารเรื่องการปรับตัวและความต้องการการส่งเสริม สนับสนุนต่างๆ เพื่อรองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การประชุมครั้งนี้ยังได้ข้อสรุปว่าทุกประเทศต้องมีการตั้งเป้าหมายให้ตรงกัน โดยกำหนดเป็นเป้าหมายทุกๆ 5 ปี เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ภาพรวมในระดับโลกได้ นอกจากนี้ หลังจากแต่ละประเทศนำแนวทางไปปฏิบัติแล้ว ยังต้องมีการรายงานข้อมูลกลับไปในรูปแบบ Biennial Transparency Report หรือรายงานความโปร่งใส ราย 2 ปี ที่จะต้องรายงานผลต่างๆ อาทิ การลดก๊าซเรือนกระจก การปล่อยก๊าซเรือนกระจก กลไกการเงินที่ได้รับการสนับสนุน เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยต้องส่งครั้งแรกในปี 2024
สำหรับประเทศไทย โดยนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หลังเข้าร่วม COP26 ก็ได้ประกาศเป้าหมายสำคัญคือประเทศไทยจะเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี 2065 ส่วนต่อมาคือการยกระดับ NDCs จากร้อยละ 20-25 ให้อาจถึงร้อยละ 40 โดยใช้แนวทางการสนับสนุนทางการเงิน การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้เข้ามาช่วย ส่วนเรื่องการลดอุณหภูมิ ประเทศไทยอยู่ในทิศทางที่จะลดลงมาอยู่ระหว่าง 1.6-1.7 องศาเซลเซียส ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายเพราะตั้งเป้าไว้สูงกว่าเป้าหมายโลกที่จะไปถึงในตอนนี้ งานที่ สผ. ต้องทำต่อร่วมกับทุกกระทรวง ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม และประชาชน คือการอัปเดตเป้าหมาย NDCs ผ่านการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน อีกทั้งยังต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาวว่าด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) รวมถึงจะปรับปรุงยุทธศาสตร์ระยะยาว ด้วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เพื่อให้สอดรับกับความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์
ในมุมของภาคเอกชน ดร. บุตรา ให้ความเห็นว่า หลังจากเข้าร่วมการประชุม COP26 แล้วกลับมาพร้อมความรู้สึกที่มีความหวังและมีความกังวลในเวลาเดียวกัน การมีความหวังคือได้ไปเห็นคนจำนวนหลายหมื่นคนในแต่ละวันร่วมพูดคุยหารือในเรื่องเดียวกันอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนความกังวลที่มีมาถึงฝั่งเอกชนคือการคิดว่าต้องใช้พลังงานเยอะแค่ไหนในการไปถึงเป้าหมายนั้นได้ ไม่ว่าจะเรื่องการลงทุน เทคโนโลยี นโยบายต่างๆ เป็นโจทย์ที่ไม่ใช่แค่ใครคนใดคนหนึ่งทำแล้วสำเร็จ แต่ต้องเป็นความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน
สำหรับภาคเอกชนจะมีองค์กรหนึ่งชื่อว่า World Business Council For Sustainable Development (WBCSD) หรือ สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ก็ได้ออกข้อกำหนดมาคล้ายกับ Climate Pact แต่เป็นของทางภาคเอกชน รวม 12 ข้อ แสดงให้เห็นว่าถ้าทำตามนี้จะถือเป็นการ Future Proof ตัวเองในอนาคต อย่างแรกคือ ภาคธุรกิจควรต้องเริ่มดูว่า Carbon Cost ในอนาคตเป็นอย่างไร จะมีผลกระทบทางการเงินมากน้อยเพียงใด ธุรกิจไหนจะอยู่รอด ธุรกิจไหนควรปรับตัว ธุรกิจไหนที่ควรเพิ่มความเข้มแข็งขึ้น ส่วนที่สองคือกลุ่มลูกค้า ในประเภทสินค้าต่างๆ จะเริ่มดูข้อมูล Carbon Credit ที่มาในห่วงโซ่คุณค่า รวมถึงตั้งเป้าหมาย Net Zero จึงต้องสรรหาพาร์ทเนอร์ที่มีเป้าหมายคล้ายกัน ส่วนสุดท้ายที่เป็นประเด็นที่ต้องจับตามองในฝั่งเอกชนคือเรื่องตลาดการลงทุน หลายธนาคาร รวมถึงแหล่งทุนขนาดใหญ่ ที่เป็นแหล่งเงินหลักของภาคธุรกิจที่ต้องการใช้เทคโนโลยี เริ่มหันมาให้ความสำคัญเรื่องคาร์บอนในเชิงของพอร์ตการลงทุนของเขา ในระยะนี้ไปจนถึงปี 2030 จะมีการย้ายเงินจากอุตสาหกรรมที่มีความเข้มข้นทางคาร์บอนสูงที่เคยทำเงินมาก่อน จะเริ่มเห็นว่าตลาดกลุ่มนี้มีความเสี่ยง ก็จะย้ายเงินไปลงทุนในตลาดที่เป็นคาร์บอนต่ำมากขึ้น
สำหรับการเตรียมรับมือของภาคเอกชน ดร. บุตรา กล่าวว่า สิ่งสำคัญคือเรื่องของเทคโนโลยี เราคงจะไปถึงเป้าหมายได้ยากถ้าเทคโนโลยีไม่เปลี่ยนแปลง เทคโนโลยีเล็กๆ ที่สามารถลดคาร์บอนไดออกไซด์หลักพันตัน ถึงหมื่นตัน มองว่าภาคเอกชนสามารถลงทุนด้วยตัวเองได้แต่การจะลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในหลักล้านตันเป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะธุรกิจในประเทศไทยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจภาคการผลิต ใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ ซึ่งตนมองว่าเทคโนโลยีที่จะเข้ามาทดแทนหรือช่วยแก้ปัญหานี้ได้ ได้แก่ 1) เทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) 2) การเปลี่ยนการให้ความร้อนจากการเผาไปเป็นการให้ความร้อนจากพลังงานไฟฟ้า และ 3) ไฮโดรเจน ที่จะมาเป็นโมเลกุลหลักในการลดคาร์บอน
ดร. บุตรา มองว่า โอกาสของประเทศไทยยังมีค่อนข้างเยอะในการทำเรื่องเหล่านี้ ในอนาคตเราต้องอาศัยการทำ Open Innovation หรือนวัตกรรมแบบเปิด ร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่ถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีที่เหมาะกับโครงสร้างของประเทศไทย โครงสร้างของธุรกิจมาใช้ หรือทำนวัตกรรมแบบเปิดร่วมกับมหาวิทยาลัยและภาครัฐ เพื่อเตรียมคนที่มีความสามารถ เตรียมคนที่รู้เรื่องเทคโนโลยีลักษณะนี้ไว้ เพื่อจะเสริมและตอบโจทย์ในอนาคต
ดร. พิรุณ ได้ฝากทิ้งท้ายถึงภาคธุรกิจและประชาชนว่า ในการดำเนินธุรกิจในศตวรรษนี้มีแต่ต้องก้าวให้เร็วและเร็วกว่าคนอื่น เราต้องการเห็นการผลักดันและพาองคาพยพภาคธุรกิจไปด้วยกันข้างหน้าทั้งหมด เพราะเชื่อว่าภาคธุรกิจเชื่อมโยงกับภาคประชาชน มองเป็นเอกเทศน์ไม่ได้ ต้องมองเป็นภาพองค์รวม และต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทุกคนล้วนมีส่วนทำให้เกิดขึ้น และเราทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข เป้าหมายเรามีแล้วสิ่งที่เหลือคือการขับเคลื่อนและจับมือเดินหน้าเรื่องนี้ไปด้วยกัน
ด้าน ดร. กิติพงค์ กล่าวปิดในตอนท้ายว่า ถึงแม้การบรรลุเป้าหมายจะเป็นเรื่องที่ยากและท้าทาย แต่ที่ผ่านมา ได้เห็นการทำงานทั้งจากภาครัฐและเอกชน ที่ลงมือลงแรงร่วมกันจนมีความก้าวหน้าไปเยอะ ทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ว่าเราน่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้ ซึ่งในส่วน สอวช. เอง ก็ได้มีโอกาสเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ในฐานะ Negotiator ในประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับ “Technology Development and Transfer” และทำหน้าที่เป็น National Designated Entity (NDE) ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของ The Climate Technology Centre and Network (CTCN) ภายใต้อนุสัญญา UNFCCC โดยมีหน้าที่หลักๆ คือ ตรวจสอบคำขอรับความช่วยเหลือว่าตรงตามความต้องการของประเทศหรือไม่ รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ซึ่ง สอวช. มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงประเทศไทยกับนานาชาติ โดยเฉพาะเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีและเน้นบทบาทของ อววน. โดยเฉพาะนักวิจัยในการดูดซับองค์ความรู้ ตลอดจนบทบาทด้านการหาแหล่งทุนจากในและต่างประเทศ เพื่อมาขยายขนาดโครงการด้านเทคโนโลยีที่จำเป็นเพื่อให้ไทยสามารถบรรลุเป้าหมายตามที่กล่าวไว้ในเวที COP26 รวมถึงการสนับสนุนบุคคลากร และอำนวยความสะดวก เพื่อเร่งให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ให้ประเทศไทยสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เองในประเทศ
“ เรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เป็นเรื่องใกล้ตัว ส่งผลกระทบต่อเราทุกคนเท่าๆ กัน เพราะฉะนั้นทุกคนต่างก็มีส่วนร่วมและเป็นส่วนสำคัญที่สามารถเข้ามาช่วยในการดูแลโลกใบนี้ได้” ดร. กิติพงค์ กล่าว