messenger icon
×

มาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ


หน้าหลัก » มาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เพื่อรองรับการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (โคโรน่าไวรัส หรือ COVID-19) เป็นเหตุการณ์ที่สร้างผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชากร โดยจากข้อมูล ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 มีการระบาดทั่วโลกกว่าสี่ล้านราย โดยเป็นผู้ป่วยที่พบในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรปรวมกันถึงร้อยละ 50 ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องออกมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาด เช่น การปิดเมือง (lockdown) ทั้งภายในประเทศและการปิดพรมแดนระหว่างประเทศ การให้อยู่ในที่พักอาศัยทั้งการบังคับและความสมัครใจ (voluntary/compulsory self-quarantine/isolation) การตรวจและติดตามกลุ่มเสี่ยง (contact tracing) การปิดสถานประกอบการบางประเภทที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างและการปิดสถานศึกษาชั่วคราว การเว้นช่องว่างทางสังคม ซึ่งมาตรการต่าง ๆ เหล่านี้เอง ผนวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทวีความรุนแรงขึ้น ส่งผลกระทบทั้งต่อสถานภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ กล่าวคือ บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีเงินทุนหมุนเวียนไม่มากนักจะเกิดปัญหาสภาพคล่องจากการที่ธุรกิจต้องปิดตัวลงชั่วคราว ประชาชนที่เป็นกลุ่มแรงงานขาดรายได้ทั้งจากการเลิกจ้างชั่วคราวและถาวร  ในขณะที่ด้านสังคม พฤติกรรมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป

จากผลกระทบที่เกิดขึ้น รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงออกมาตรการต่าง ๆ ที่คล้ายคลึงกันในการฟื้นฟูและกระตุ้นเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เช่น สหรัฐอเมริกาได้อนุมัติเงินกระตุ้นเศรษฐกิจรวมมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของงบประมาณภาครัฐต่อปี โดยจะนำไปใช้ในการช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ การเพิ่มประกันการว่างงาน และการพัฒนาระบบสาธารณสุข  อังกฤษจัดสรรงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 65,500 ล้านปอนด์ โดยจัดสรรงบประมาณส่วนหนึ่งสนับสนุนการสาธารณสุขของประเทศ การปล่อยสินเชื่อที่มีรัฐค้ำประกัน ให้แก่ภาคธุรกิจค้าปลีกและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรม

สำหรับประเทศไทย สถานการณ์การแพร่ระบาดในภาพรวม พบว่า มีผู้ป่วยรายแรกเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2563 และเริ่มมีการแพร่ระบาดต่อเนื่องมาหลังจากนั้น จนถึงวันที่ 25 มีนาคม 2563 ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกท้องที่ทั่วราชอาณาจักร และเริ่มใช้มาตรการต่าง ๆ อย่างเข้มงวดเพื่อควบคุมการแพร่ระบาด รวมทั้งการยกระดับศักยภาพระบบสาธารณสุขเพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจำนวนมาก จนถึง 27 เมษายน 2563 เป็นวันแรกที่มีการยืนยันผู้ป่วยใหม่รายวันต่ำกว่า 10 คน และวันที่ 3 พฤษภาคม 2563 ภาครัฐได้เริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมบางอย่าง และอนุญาตให้กิจการบางส่วนสามารถกลับมาดำเนินการได้ภายใต้แนวปฏิบัติและการควบคุมอย่างเข้มข้นจากภาครัฐ อย่างไรก็ดี การบังคับใช้มาตรการต่าง ๆ ได้ส่งผลกระทบต่อแต่ละภาคส่วนแตกต่างกันออกไปตามตาราง A

ตาราง A ผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อภาคส่วนต่าง ๆ

ในระยะควบคุมการแพร่ระบาดของโรค รัฐบาลไทยเน้นการให้เงินช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น โครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” ที่ภาครัฐให้เงินช่วยเหลือประชาชน 5,000 บาทต่อเดือน การให้สินเชื่อพิเศษทั้งของบุคคลธรรมดา และผู้ประกอบการเพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่อง การลดค่าธรรมเนียม ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่าต่าง ๆ รวมถึงการขยายเวลาการชำระภาษี  รวมถึงการอนุมัติวงเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-9 จำนวน 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 60 ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563  แต่ในระยะต่อไป ซึ่งครอบคลุมถึงระยะผ่อนคลายการควบคุมและเริ่มกลับสู่การประกอบการกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ระยะการฟื้นฟูและปรับตัวภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย และระยะการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและการปรับตัวของสังคมใหม่ รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการอื่นๆ ที่จะสนับสนุนในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการช่วยเหลือภาคส่วนต่าง ๆ ในการปรับตัวเข้าสู่ความปกติใหม่ (New Normal)  

ดังนั้น คณะทำงานจึงได้วิเคราะห์ข้อมูลทั้งจากตัวเลขสถิติข้อมูลสถานการณ์ปัจจุบัน การประชุมระดมความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ และเอกสารเผยแพร่ต่าง ๆ เพื่อออกแบบมาตรการด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในมิติของเทคโนโลยีและนวัตกรรม การพัฒนาทักษะและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น ต่อการสนับสนุนการพัฒนาในแต่ละภาคส่วน  พร้อมทั้งจัดทำข้อเสนอแผนงานสำคัญในการสร้างงานและรายได้รองรับคนตกงานและผู้ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ซึ่งประกอบด้วย 3 แพลตฟอร์ม ดังนี้

  1. แพลตฟอร์มการสร้างงานในชุมชน โดยใช้กลไกยุวชนสร้างชาติ และ Cooperative Commune Coaching platform ในการสร้างแหล่งน้ำเกษตร และการพัฒนาชุมชนนวัตกรรม เพื่อสร้าง value chain อุตสาหกรรมระดับพื้นที่ เช่น เกษตรอินทรีย์ ท่องเที่ยวชุมชน OTOP หรือ One Tambon One Product อาหาร  และ creative economy ฯลฯ)
  2. แพลตฟอร์มการพัฒนาทักษะอาชีพที่จำเป็น โดยใช้กลไก Reskill Upskill และ New skill platform เพื่อยกระดับทักษะคนตกงานให้เข้าสู่งานใหม่หรือยกระดับงานเดิม โดยเน้นการพัฒนา care giver เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย smart farmer ผู้ประกอบการใหม่ และ SME ในพื้นที่  นักศึกษาจบใหม่หรือที่กำลังจะสำเร็จการศึกษา เป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก
  3. แพลตฟอร์มสนับสนุน SME สร้างนวัตกรรมเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยใช้กลไกการอุดหนุนธุรกิจขนาดเล็กสร้างนวัตกรรมและยกระดับเทคโนโลยี และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัย หรือสถาบันวิจัย หรือบริษัทขนาดใหญ่ โดยใช้การพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับตรวจคัดกรอง ตรวจสอบ ติดตาม และเฝ้าสังเกต เป็นโจทย์การพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม

สุดท้ายนี้ คณะทำงานขอขอบพระคุณผู้ทรงคุณวุฒิและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนที่ให้การสนับสนุนและให้ข้อคิดเห็นต่อการจัดทำเอกสารฉบับนี้มา ณ ที่นี้ด้วย