messenger icon
×

Foresight & Systems Research


หน้าหลัก » Foresight & Systems Research

การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight)

การคาดการณ์อนาคต (Foresight) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการคาดการณ์และสร้างภาพอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้นในระยะกลางและระยะยาวในระดับโลก ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ และในประเด็นสำคัญ (Key Agendas) เช่น อนาคตของสังคมผู้สูงอายุ อนาคตของปัญญาประดิษฐ์ อนาคตของอุตสาหกรรม อนาคตของการศึกษา และอนาคตของการจ้างงาน เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบในการออกแบบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศหรือบริษัทให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกโฉมฉับพลัน (Disruptive Changes)

การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) ที่ดำเนินการโดย สอวช. เป็นกระบวนการเพื่อนำไปสู่การกำหนดประเด็นสำคัญ (Agenda Setting) รวมทั้งการจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ควรดำเนินการ (Priority Setting) สำหรับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมของประเทศ เพื่อใช้เป็นกรอบ (Framework) ในการจัดทำแผนด้านการอุดมศึกษา และแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยมีกระบวนการหลัก ดังนี้

1.การติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มของโลกและไทย (Horizon Scanning)  

เป็นกระบวนการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล (Strategic Intelligence) เพื่อให้ทราบถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ (Mega trends) และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงย่อยภายใต้การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ (Sub tends) รวมทั้งระบุปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ (Key Drivers) อันจะนำไปสู่การวิเคราะห์หาข้อมูลเชิงลึก (Insights) และนัยยะที่สำคัญ (Implications) ต่อโลกและต่อประเทศไทย

2. การสร้างภาพอนาคตของไทยและในประเด็นสำคัญ (Scenario Building)

เป็นกระบวนการสร้างสถานการณ์โดยใช้ข้อมูลแนวโน้มในปัจจุบันและความไม่แน่นอน (Uncertainties) ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ผลลัพธ์ที่ได้จะนำไปสู่การวางแผนด้วยสถานการณ์ (Scenario Planning) เพื่อเสนอทางเลือกในการจัดการกับเหตุการณ์ในอนาคตได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ สำหรับใช้ประกอบการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมต่อไป

การวิจัยเชิงระบบ (System Research)

การวิจัยเชิงระบบเป็นการศึกษาและวิเคราะห์องค์ประกอบของระบบและความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในระบบ รวมทั้งวิเคราะห์ถึงปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อระบบทั้งในปัจจุบันและอนาคต การวิจัยเชิงระบบมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อวิเคราะห์ข้อจำกัดของระบบปัจจุบันในการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและศักยภาพในการรองรับความท้าทายที่มีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคต

การวิจัยเชิงระบบที่อยู่ระหว่างดำเนินการโดย สอวช. สกสว. และเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ จะมุ่งเน้นการวิจัยระบบที่สำคัญต่อการพัฒนาประเทศ เช่น ระบบการอุดมศึกษา ระบบการเกษตร และระบบพลังงาน โดยมีหลักการชี้นำ (Guiding Principles) 3 ประการ คือ 1) เชื่อมโยงกับบริบทโลก (Global Context) 2) นำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนทรรศน์ (Paradigm Shifts) และ 3) เกิดการออกแบบระบบใหม่ (System Design) ผลลัพธ์ที่ได้จากการวิจัยเชิงระบบจะนำไปจัดทำเอกสารข้อเสนอเชิงนโยบาย (White Paper) เพื่อออกแบบระบบรองรับกระบวนทรรศน์ใหม่ในการพัฒนาประเทศ (New Development Paradigm)

การวิจัยเชิงระบบที่ สอวช. รับผิดชอบเป็นหลัก ได้แก่

1. ระบบการอุดมศึกษา วิทยาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  

เป็นการศึกษาและวิเคราะห์โครงสร้างและศักยภาพในการดำเนินงานของระบบการอุดมศึกษา วิทยาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในปัจจุบัน โดยพิจารณาความเหมาะสมของโครงสร้างการแบ่งหน้าที่ของหน่วยงานในระบบ ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบการออกแบบนโยบาย ระบบการจัดสรรและบริหารทุน รวมทั้งระบบการติดตามและประเมินผล  

2.ระบบการอุดมศึกษาในอนาคต  

เป็นการศึกษาถึงระบบการพัฒนากำลังคนให้มีปริมาณเพียงพอและมีความรู้และทักษะที่ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน (Disruption) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของงานในอนาคต (Future of Work)

3.เศรษฐกิจหมุนเวียน

มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจแบบเส้นตรง (Linear Economy) ในปัจจุบันไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นระบบที่มีการวางแผนให้ทรัพยาการในระบบการผลิตและบริการทั้งหมดกลับคืนสู่สภาพเดิมและสมารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่

4.ระบบอาหาร  

มุ่งเน้นการศึกษาและวิเคราะห์ระบบอาหารในปัจจุบันเพื่อการปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบอาหารที่เชื่อถือได้ (Reliable Food System) ในลำดับแรก และเปลี่ยนไปสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืน (Sustainable Food System) ในขั้นต่อมา เพื่อมุ่งสู่ระบบอาหารนวัตกรรม (Innovative Food System) ซึ่งเป็นเป้าหมายสุดท้าย