messenger icon
×

Frontier Research


หน้าหลัก » Frontier Research

การวิจัยขั้นแนวหน้า Frontier Research เพื่อกำหนดอนาคตประเทศ

การวิจัยขั้นแนวหน้าเป็นงานวิจัยที่นำไปสู่การค้นพบสิ่งใหม่ (New discovery) การทำสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลก (First in class) หรือการสร้างสิ่งที่ดีที่สุดในโลก (Best in class) งานวิจัยขั้นแนวหน้าไม่ได้จำกัดอยู่ที่เรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ได้จำกัดขอบเขตทางภูมิศาสตร์ สิ่งแวดล้อม หรือวัฒนธรรม แต่อยู่ที่เจตนารมณ์และความปรารถนาที่จะทำ โดยมีเป้าหมายที่สำคัญเพียงข้อเดียว คือ “ความมุ่งมั่นที่จะไปสู่ความเป็นเลิศ”

ในต่างประเทศได้มีการใช้งานวิจัยชั้นแนวหน้าเป็นเครื่องมือเพื่อนำไปสู่การเป็นผู้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคม เช่น สหรัฐอเมริกามีการพัฒนาด้านอวกาศ การทหารและความมั่นคงมายาวนานและเกิด spillover effect ที่นำไปสู่การพัฒนาเทคโนโลยีเชิงพาณิชย์ สหภาพยุโรปทำการวิจัยขั้นแนวหน้าเพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างนวัตกรรมและเพื่อรักษาคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถไว้เป็นกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมยุโรป ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรมีการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนางานวิจัยชั้นแนวหน้าเพื่อเปลี่ยนบทบาทไปสู่การเป็นประเทศผู้นำและเป็นเจ้าของเทคโนโลยีในด้านที่มีศักยภาพในการสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมสูง โดยมีเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ ดังต่อไปนี้

  1. สร้างความเป็นเลิศเพื่อคนไทย: พัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของคนไทย เพื่อให้เกิดความสอดคล้องด้านพันธุกรรม สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมไทย
  2. สร้างความเป็นเลิศเพื่อความสามารถในการแข่งขัน: เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่เป็นโจทย์ท้าทายของโลก นำไปสู่การเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและผู้ส่งออกเทคโนโลยีที่ตอบสนองกับความต้องการของโลกในอนาคต
  3. สร้างความเป็นเลิศเพื่อความมั่นคงของประเทศ: เพิ่มศักยภาพในการรับมือภัยคุกคามอันเกิดจากการพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างโอกาสในการก้าวกระโดดไปสู่การเป็นผู้นำด้านวิทยาศาสตร์ สามารถพึ่งพาตัวเองได้ในยุคที่มีการเชื่อมโยงระหว่างประเทศในทุกมิติของเศรษฐกิจและสังคม

ในการขับเคลื่อนงานวิจัยชั้นแนวหน้าเพื่อนำไปสู่การสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม สอวช. ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยชั้นแนวหน้า และพัฒนาแผนที่นำทางการพัฒนางานวิจัยชั้นแนวหน้า สรุปความก้าวหน้าสำคัญได้ดังต่อไปนี้

1. การพัฒนาระบบนิเวศสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยชั้นแนวหน้า

สอวช. ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ดำเนินการออกแบบ Flagship Program สำหรับการวิจัยชั้นแนวหน้าในหัวข้อที่ถูกคัดเลือก เช่น Quantum Computing รวมทั้งออกแบบ Seed Program เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยชั้นแนวหน้าในเรื่องที่อาจจะมีความสำคัญในอนาคต

2. การพัฒนาแผนที่นำทางการพัฒนางานวิจัยชั้นแนวหน้า

สอวช. ร่วมกับเครือข่ายเชี่ยวชาญอยู่ระหว่างการจัดทำแผนที่นำทางการพัฒนางานวิจัยชั้นแนวหน้าในด้าน (1) Quantum Computing (2) Space Technology (3) High Energy Physics (4) Advanced Materials (5) Food for the Future และ (6) Advanced Medical Research