messenger icon
×

กลไกการบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Incubation Platform)

วันที่เผยแพร่ 10 ตุลาคม 2024

เมื่อปี 2565 สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) จัดทำสมุดปกขาว “กลไกการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อสร้างความยั่งยืนในท้องถิ่นด้วยการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม” โดยศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวิสาหกิจเพื่อสังคม และนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อพัฒนากลไกการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อสร้างความยั่งยืนในท้องถิ่น ทั้งในเชิงระบบภาพรวมของประเทศและด้วยกลไกของอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่สำคัญ 7 ข้อ ได้แก่ 1) การจัดตั้ง Social Enterprise academy เพื่อสนับสนุนและบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่ 2) การพัฒนาด้านศึกษาและการเสริมสร้างทักษะ (Education and skills) 3) การเพิ่มศักยภาพให้กับวิสาหกิจเพื่อสังคมในกรเข้าสู่ตลาด (Access to market) 4) การส่งเสริมให้มีแหล่งเงินทุนสำหรับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่หลากหลาย (Access to finance) 5) การพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อสังคมรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพันธบัตรเพื่อสังคม (Social impact bond) 6) การส่งเสริมศักยภาพวิสาหกิจเพื่อสังคมในการขยายผลกระทบทางสังคม (Scaling the impact) และ 7) การสนับสนุนให้เงินทุนตั้งต้นแบบครั้งเดียวให้แก่กองทุนส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม

สอวช. ได้หยิบยกหนึ่งในข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเรื่องการการจัดตั้ง Social Enterprise academy เพื่อสนับสนุนและบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคมรุ่นใหม่ มาต่อยอดโดยได้ศึกษาและออกแบบกลไกการบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise Incubation Platform) ที่จะสามารถเชื่อมโยงสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา การสนับสนุนที่ปรึกษาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้าถึงทรัพยกรและสิทธิประโยชน์จากหน่วยงานที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) รวมทั้ง หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ที่มีระบบนิเวศนวัตกรรมและพื้นที่เศรษฐกิจนวัตกรรมรองรับได้เป็นอย่างดีในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การสรรหาแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ประกอบการ มาตรการสร้างแรงจูงใจทางภาษี รูปแบบการบ่มเพาะผู้ประกอบการ การเร่งการเจริญเติบโตของผู้ประกอบการ เป็นต้น ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพ มีความพร้อมในการผลิตสินค้าและบริการมูลค่าสูง นำไปสู่การสร้างรายได้ การจ้างงาน กระจายรายได้สู่ภูมิภาค รวมทั้งก่อให้เกิดอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง สามารถวางรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต ด้วยการส่งเสริมเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่นให้เข้มแข็ง มีศักยภาพในการแข่งขัน พึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนยกระดับมาตรฐานการครองชีพและความเป็นอยู่ของประชาชนในชุมชนให้ดีขึ้น

ข้อมูลที่ปรากฏในรายงานฉบับนี้ ได้มาจากการรวบรวมประเด็นปัญหา อุปสรรค และความต้องการของผู้ประกอบการ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม และหน่วยบ่มเพาะของมหาวิทยาลัย ผ่านการจัดประชุมกลุ่มย่อย (Focus group) เพื่อนำมาออกแบบและพัฒนาโปรแกรมการเรียนรู้ กระบวนการบ่มเพาะ และกระบวนการฝึกภาคปฏิบัติที่เหมาะสำหรับแต่ละกลุ่ม นำมาสู่การถอดบทเรียนและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการขับเคลื่อนการส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมและผู้ประกอบการเพื่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม

คณะผู้จัดทำหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารายงานการศึกษากลไกการบ่มเพาะวิสาหกิจเพื่อสังคมจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่มีความสนใจ ผู้ที่จะขับเคลื่อนการส่งเสริมและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม เพื่อสร้างความยั่งยืนในท้องถิ่น จากการเล็งเห็นถึงศักยภาพของวิสาหกิจเพื่อสังคมที่จะสามารถช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับชุมชนฐานรากให้หลุดพ้นจากความยากจน สร้างรายได้ สร้างอาชีพ การช่วยเหลือสังคม การคืนประโยชน์ให้แก่สังคม ตลอดจนช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นได้