รายงานการวิเคราะห์ ตัวชี้วัดความเข้มแข็งของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จากการจัดอันดับโดย Times Higher Education (THE) ประจำปี 2021 ชุดนี้ ได้ให้ความสนใจต่อตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับมหาวิทยาลัยในระดับนานาชาติหรือ World University Ranking (WUR) เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของมหาวิทยาลัยให้มุ่งสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ และมีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล โดยวัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อ 1.) ศึกษารายละเอียด และวิธีการของเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ใช้ในการจัดอันดับ WUR ของ Times Higher Education และ 2.) วิเคราะห์สถานภาพของมหาวิทยาลัยไทย เมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เพื่อนำไปสู่การจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางในการเพิ่มอันดับของมหาวิทยาลัยไทยต่อไป
การจัดอันดับ WUR ของ THE ในปี พ.ศ.2564 ครอบคลุมมหาวิทยาลัยมากกว่า 1,500 แห่งทั่วโลก (93 ประเทศ) โดยมีการจัดทำเกณฑ์ (Criteria) ที่สำคัญ 5 ด้าน ประกอบไปด้วย 13 ตัวชี้วัด ได้แก่ 1.) ด้านการเรียนการสอน (Teaching) ประกอบไปด้วย 5 ตัวชี้วัด ได้แก่ สัดส่วนนักศึกษาปริญญาเอกที่สำเร็จการศึกษาแล้วต่อนักศึกษาปริญญาตรีที่สำเร็จการศึกษาแล้ว สัดส่วนนักศึกษาปริญญาเอกที่สำเร็จการศึกษาแล้วต่อบุคลากรทางวิชาการ ชื่อเสียงด้านการสอน รายได้ของสถาบันต่อจำนวนบุคลากรทางวิชาการ และสัดส่วนของบุคลากรทางวิชาการต่อนักศึกษาทั้งหมด 2.) ด้านการวิจัย (Research) ประกอบไปด้วย 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ ผลงานตีพิมพ์ต่อบุคลากรทั้งหมด รายได้ของสถาบันต่อจำนวนบุคลากรทางวิชาการ และชื่อเสียงด้านการวิจัย 3.) ด้านการอ้างอิงในผลงานวิจัย (Citations) 4.) ด้านความเป็นนานาชาติ (International outlook) ประกอบไปด้วย 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ สัดส่วนบุคลากรด้านวิชาการต่างชาติต่อบุคลากรด้านวิชาการทั้งหมด ความร่วมมือระดับนานาชาติ และ สัดส่วนนักศึกษาต่างชาติต่อนักศึกษาทั้งหมด และ 5.) ด้านรายได้ทางอุตสาหกรรม (Industry)