messenger icon
×

มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐ (TBIR)


หน้าหลัก » มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐ (TBIR)

มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐ

การพัฒนาประเทศเพื่อให้หลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางจำเป็นต้องอาศัยการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมซึ่งจะส่งผลให้ประเทศสามารถสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวมได้อย่างมีนัยะสำคัญ การสร้างแรงขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมนี้ต้องอาศัยภาคเอกชนซึ่งเป็นผู้เล่นสำคัญในระบบเศรษฐกิจโดยการสร้างขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อให้มีผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีความสามารถพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้จริง อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการภาคเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบันยังประสบปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์หลายประการ อาทิ การเข้าถึงแหล่งทุนสนับสนุนจากภาครัฐ การเข้าถึงตลาดสินค้านวัตกรรมของภาครัฐ และความเชื่อมโยงแหล่งความรู้ในสถาบันวิจัยและมหาวิทยาลัย เป็นต้น สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จึงได้ริเริ่มจัดทำมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กเพื่อพัฒนาผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามโจทย์ความต้องการของภาครัฐ (มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กฯ) โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อตอบสนองประเด็นข้างต้น

ลักษณะของมาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กฯ

มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กฯ เป็นมาตรการที่ให้เงินทุนสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดเล็กของไทยในการสร้างนวัตกรรมโดยใช้ความต้องการ (Demand) จากภาครัฐเป็นตัวนำในการสร้างโจทย์พัฒนานวัตกรรม โดยมีผู้ที่เกี่ยวข้องและบทบาทดังนี้

หน่วยงานภาครัฐ – หน่วยงานภาครัฐมีหน้าที่สำคัญในการเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนและรับความเสี่ยงในช่วงของการวิจัยและสร้างนวัตกรรม โดยเป็นผู้กำหนดโจทย์ความต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ต้องการใช้ตามพันธกิจของหน่วยงานนั้น หรือแก้ปัญหาของสังคม หรือสามารถสร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจได้ ทั้งนี้ รวมถึงการเป็นลูกค้าแรกของผลงานนวัตกรรมนั้น ๆ หรือเชื่อมโยงไปสู่ลูกค้ารายสำคัญอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน

ผู้ประกอบการ – ผู้ประกอบการมีหน้าที่เป็นผู้คิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรมบนโจทย์ความต้องการของหน่วยงานภาครัฐข้างต้น โดยในท้ายที่สุดมาตรการนี้มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมมาตรการเพิ่มศักยภาพตัวเองในการสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงจากนวัตกรรมและสามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจได้

มหาวิทยาลัย – มหาวิทยาลัยมีหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนและให้การช่วยเหลือในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมของผู้ประกอบการ โดยการทำการวิจัยร่วมกันและถ่ายทอดความรู้แก่ผู้ประกอบการเพื่อเสริมสร้างความสามารถในการสร้างนวัตกรรมได้โดยตัวเองของผู้ประกอบการ

มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กฯนี้ ยังมีกลไกที่สำคัญมากในแง่ของการร่วมมือระหว่างฐ ผู้ประกอบการและมหาวิทยาลัย ผ่านการร่วมวิจัย การถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยี รวมถึงการใช้เครื่องมือหรือโครงสร้างพื้นฐานด้านการวิจัย ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การลงทุนในทรัพยากรต่างๆ ทั้งเม็ดเงิน บุคลากร มุ่งตรงสู่ประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข หรือสร้างผลกระทบขนาดใหญ่ต่อสังคมได้ 

ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม

มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กฯ มุ่งหวังให้เกิดผลกระทบทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมจาก 2 ส่วนคือ ส่วนของการทำงานของหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขปัญหาของสังคม และส่วนของการเพิ่มความสามารถของผู้ประกอบการในการเป็นผู้สร้างนวัตกรรมแก่ประเทศ

ในส่วนแรกภาครัฐมีหน้าที่ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยที่ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมมีบทบาทมากในทุก ๆ ด้าน หน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทั้งในรูปแบบของผลิตภัณฑ์และบริการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน มาตรการสนับสนุนทุนสำหรับผู้ประกอบการขนาดเล็กฯ นี้จะสร้างความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการในการสร้างนวัตกรรม ยกตัวอย่างเช่น ระบบการให้บริการด้านสุขภาพของรัฐรวมถึงการให้บริการแก่ผู้สูงอายุ การใช้เทคโนโลยีติดตามการจราจรเพื่อบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัด เทคโนโลยีสำหรับการจัดการน้ำ เป็นต้น ประเด็นเหล่านี้สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยการใช้นวัตกรรมและการทำงานของภาครัฐและผู้ประกอบการร่วมกัน

ในส่วนของผู้ประกอบการ ประเทศไทยมีผู้ประกอบการขนาดเล็กเป็นจำนวนมากและเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญของประเทศ มาตรการนี้เป็นการสนับสนุนเงินแก่ผู้ประกอบการโดยตรงเพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม และให้สิทธิความเป็นเจ้าของผลงานแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์จากผลงานนั้น ๆ ได้ อีกทั้งผู้ประกอบการยังสามารถนำนวัตกรรมนั้นไปต่อยอดเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง และยังเป็นการพัฒนาศักยภาพในการสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้ด้วยตนเองจนสามารถเป็นผู้ประกอบการที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Innovation Driven Enterprise) ที่ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศได้ต่อไป