University Holding Company เป็นหน่วยธุรกิจที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลแยกออกจากมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัยของรัฐเพื่อทำหน้าที่บริหารการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมอย่างมืออาชีพ โดยบริหารการลงทุนเพื่อนำผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย/สถาบันวิจัยออกไปจัดตั้งธุรกิจ (Spin-off) และลงทุนในงานวิจัยของผู้ประกอบการรายใหม่ให้ขยายผลและนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง รวมทั้งยังสามารถเข้าถึงทรัพยากรของมหาวิทยาลัยและเชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม พร้อมกับการสนับสนุนทางการเงินได้อย่างคล่องตัว
อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยหลายแห่งยังมีความไม่แน่ใจเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจในการดำเนินกิจกรรมการร่วมลงทุน รวมถึงขั้นตอนการร่วมลงทุนในรูปแบบ Holding Company ซึ่งมีความเกี่ยวพันกับการตีความกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายฉบับที่จำเป็นต้องทำให้เกิดความเข้าใจร่วมกันถึงหน้าที่และอำนาจ และการบังคับใช้กฎหมายในกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการร่วมลงทุน เพื่อให้มหาวิทยาลัยขับเคลื่อนการดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว ผู้บริหารหน่วยงานสามารถตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความโปร่งใส ซึ่งจะส่งผลให้การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนเกิดประสิทธิผล และสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่มหาวิทยาลัย บริษัทเอกชนที่อยู่ในห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain) และเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) เล็งเห็นถึงความสำคัญของ University Holding Company ในการเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่จะช่วยเพิ่มจำนวนบริษัทเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise) ของไทย ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศออกจากกับดักรายได้ปานกลาง สอวช. จึงส่งเสริมให้มีการร่วมลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมโดยกลไก University Holding Company ดังนี้
- จัดทำนโยบายสนับสนุนการจัดตั้งและดำเนินการ University Holding Company ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
- จัดทำแนวทางปฏิบัติ (Guideline) ในการพิจารณาจัดตั้งและดำเนินการ University Holding Company
- จัดทำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ว่าด้วยการร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ว่าด้วยการร่วมลงทุนในโครงการซึ่งนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2566
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ว่าด้วยการร่วมลงทุนฯ มีผลบังคับใช้กับสถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐ รวมถึงหน่วยงานอื่นตามที่สภานโยบายกำหนด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปลดล็อกข้อจำกัดและส่งเสริมให้สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐเกิดการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนในธุรกิจนวัตกรรมได้อย่างคล่องตัวมากยิ่งขึ้น เกิดบริษัทธุรกิจนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่อาศัยงานวิจัยและนวัตกรรมของนักวิจัยไทย นำไปสู่การสร้างงาน สร้างรายได้ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
สถาบันอุดมศึกษาและสถาบันวิจัยของรัฐสามารถดำเนินการร่วมลงทุนตามระเบียบฉบับนี้ผ่านรูปแบบการร่วมลงทุน 2 รูปแบบหลัก คือ การจัดตั้งนิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน หรือ holding company และการร่วมลงทุนกับภาคเอกชนโดยตรงในการจัดตั้งบริษัทร่วมทุนซึ่งเป็นบริษัทนวัตกรรมที่นำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปดำเนินการทางธุรกิจหรือสังคม โดยในการร่วมลงทุน หน่วยงานต้องทำการกำหนดนโยบายการร่วมลงทุนให้สอดคล้องกับภารกิจ วัตถุประสงค์ หน้าที่และอำนาจของหน่วยงาน กำหนดส่วนงานที่มีหน้าที่ดูแลและติดตามการร่วมลงทุน จัดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ให้ความเห็นในการพิจารณาการร่วมลงทุนและการคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน และจัดทำการวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางธุรกิจและการวิเคราะห์ด้านอื่นในการร่วมลงทุนแต่ละโครงการ
นอกจากนี้ มีประเด็นสำคัญอื่นที่ทางหน่วยงานต้องคำนึงถึง ได้แก่
- การคัดเลือกเอกชนมาร่วมลงทุน ให้ดำเนินการโดยวิธีการคัดเลือก หรือโดยวิธีการเฉพาะเจาะจง ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในระเบียบ
- หน่วยงานอาจร่วมลงทุนในรูปแบบของ เงินสด การตีราคาทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพย์สินอื่น หรือสิ่งอื่นที่อาจตีราคาเป็นเงินได้
- หน่วยงานต้องจัดให้มีการลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชน โดยมีสาระสำคัญตามที่กำหนด และต้องผ่านการตรวจพิจารณาโดยผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเป็นอย่างน้อย
- หน่วยงานต้องกำกับดูและบริษัทที่ไปร่วมลงทุนในฐานะผู้ถือหุ้นและผ่านผู้แทนที่อาจดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการหรือกรรมการบริษัท
- Holding Company ต้องรายงานผลการดำเนินงานอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
- หน่วยงานอาจบอกเลิกสัญญาหรือถอนการลงทุน ในกรณีที่คู่สัญญาภาคเอกชนหรือบริษัทธุรกิจนวัตกรรมทำผิดสัญญาร่วมลงทุน หรือผิดกฎหมาย หรือดำเนินกิจการผิดวัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง หรือมีผลการดำเนินงานขาดทุนติดต่อกันต่อเนื่องและไม่มีแนวโน้มจะทำกำไรได้ในอนาคต
ระเบียบฉบับนี้ได้กำหนดให้หน่วยงานมีการส่งเสริมการร่วมลงทุน ดังนี้
- ส่งเสริมให้บุคลากรไปทำการวิจัยหรือนวัตกรรม บริหาร หรือปฏิบัติงานในบริษัทธุรกิจนวัตกรรม โดยมหาวิทยาลัยจะต้องทำระเบียบและทำข้อตกลงตามระเบียบกับบุคลากร
- ส่งเสริมให้ผู้เรียนในสถาบันอุดมศึกษาไปทำการศึกษา ทำวิจัย สร้างนวัตกรรม หรือปฏิบัติงานอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาในหลักสูตรโดยตรง
- ให้บริษัทธุรกิจนวัตกรรมใช้สถานที่ โครงสร้างพื้นฐาน ห้องปฏิบัติการ เครื่องมืออุปกรณ์ บริการของหน่วยงาน โดยไม่มีค่าบริการหรือมีค่าบริการในอัตราพิเศษ ในช่วงที่บริษัทร่วมทุนยังขาดทุนอยู่
- จัดซื้อจัดจ้างสินค้าหรือบริการจากบริษัทร่วมทุน ตามบัญชีนวัตกรรมไทย
- ให้สิทธิบุคลากรที่ลาออกไปปฏิบัติงานในบริษัทร่วมทุนกลับมาปฏิบัติงานในหน่วยงานได้
Download: แนวทางปฏิบัตินิติบุคคลเพื่อร่วมลงทุน (Holding Company Guideline)
การบรรยายหัวข้อ “Valley Of Challenge อุทยานวิทศาสตร์กับหุบเขาแห่งความท้าทาย” โดย ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในงานสัมมนา “ปลดล็อกมหา’ลัย ขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย สู่เป้าหมาย 1,000 x 1,000 ร่วมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท”
การบรรยายหัวข้อ “ปั้นงานวิจัยสู่นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” โดย คุณราเมศวร์ ศิลปพรหม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท CU Enterprise จำกัด ในงานสัมมนา “ปลดล็อกมหา’ลัย ขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย สู่เป้าหมาย 1,000 x 1,000 ร่วมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท”
การเสวนา “การเตรียมความพร้อมการจัดตั้ง University Holding Company และประเด็นเชิงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ในงานสัมมนา “ปลดล็อกมหา’ลัย ขับเคลื่อนธุรกิจนวัตกรรมไทย สู่เป้าหมาย 1,000 x 1,000 ร่วมสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 1 ล้านล้านบาท”