ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ที่จัดขึ้นในวันที่ 30 พฤศจิกายน ถึง 12 ธันวาคม 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดย สอวช. นำโดยคณะผู้บริหาร ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ, ดร.สุรชัย สถิตคุณารัตน์ รองผู้อำนวยการ, ดร.ศรวณีย์ สิงห์ทอง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน และดร.ดวงกมล พิหูสูตร นักพัฒนานโยบาย ภายใต้บทบาทหน่วยประสานงานกลางด้านการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย (National Designated Entity: NDE) ทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการเจรจาและติดตามประเด็นการประชุม เพื่อพิจารณาร่างแผนงานรวมถึงโปรแกรมและทิศทางต่างๆของศูนย์เทคโนโลยีภูมิอากาศและเครือข่าย (Climate Technology Centre and Network: CTCN) ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศไทย
นอกจากบทบาท NDE สอวช. ได้ร่วมดำเนินการในการประชุม COP28 ได้แก่ (1) ริเริ่มการจัด Thailand Innovation Zone ภายใน Thailand Pavilion ร่วมกับ สส. (2) นำภาคเอกชน 7 บริษัทจัดแสดงนวัตกรรมที่เป็นของประเทศไทย ภายใน Innovation Zone (3) จัด 3 เวทีกิจกรรมคู่ขนาน (Side Event) ระหว่างการประชุม COP28 โดยนำเสนอข้อริเริ่ม Saraburi Sandbox ร่วมกับ สมาคมอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ไทย (Thai Cement Manufacturers Association: TCMA) และ Global Cement and Concrete Association (GCCA), นวัตกรรม non-technological ขับเคลื่อน Net-Zero Emission ร่วมกับภาคเอกชนและนักวิชาการต่างประเทศ และนำเสนอบทบาทมหาวิทยาลัย (Higher Education) ในการขับเคลื่อน Net zero emission ร่วมกับ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภาคเอกชน Senior Fellow จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย และ (4) การสร้างความร่วมมือกับ UNEP Copenhagen Climate Centre ในเรื่อง Technology Needs Assessment (TNA) และ ประธาน Korea Institute of Energy Research (KIER) และ CTCN เพื่อได้รับการสนับสนุนด้าน Technical Assistance (TA) ในเรื่องเทคโนโลยีการดักจับและการใช้ประโยชน์จากคาร์บอน (Carbon Capture and Utilization: CCU) ต่อไป